สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในเดือนกันยายน 2566 พบว่า สถานการณ์โลกที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเดือนกันยายน 2566 มีราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนของปี 2566 จากความกังวลต่ออุปทานตึงตัวหลังซาอุดิอาระเบียขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมที่ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปถึงสิ้นปี 2566
ขณะที่รัสเซียปรับลดการส่งออกลง 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนีเช่นกัน รวมทั้งราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นท่ามกลางความกังวลต่ออุปทานจากการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของโรงกลั่นในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากเศรษฐกิจจีนในเดือนสิงหาคม 2566 ปรับตัวดีขึ้นหลังรัฐบาลใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากปีก่อนหน้า อีกทั้งปริมาณการกลั่นของโรงกลั่นในจีนปีนี้เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบประวัติการณ์ที่ 15.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 จากปีก่อนหน้า หลังความต้องการใช้ในประเทศและการส่งออกเพิ่มขึ้น
วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า รายงานประจำเดือนกันยายน 2566 กลุ่ม OPEC ได้เปิดเผยการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกว่า จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 2.25 ล้านบาร์เรล ต่อวัน ในปี 2567 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเติบโตขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยลบจากความต้องการใช้น้ำมันและเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง หลังพายุไต้ฝุ่น Haikui ได้เข้าถล่มฮ่องกง และเซินเจิน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง อีกทั้ง สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีความน่าสนใจน้อยลงสำหรับผู้นำเข้าที่ถือสกุลเงินอื่น รวมทั้งราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในอาเซียน ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่น่าจับตามอง โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้คาดการณ์ตลาดน้ำมันดิบจะเข้าสู่ภาวะขาดดุลอย่างมากในไตรมาส 4 ของปี 2566 ที่ประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบปรับลดลงจากการขยายมาตรการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียและรัสเซียจนถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของกลุ่มโอเปกที่คาดว่า ตลาดจะขาดดุลมากสุดในรอบ 5 ปี สำหรับในปี 2567 IEA คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบจะเติบโตที่ราว 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่อุปทานจะปรับเพิ่มขึ้นราว 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะเกินดุลอีกครั้ง
“สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลของประเทศไทยและต่างประเทศ ณ วันที่ 25 กันยายน 2566 พบว่า ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ประเทศสิงคโปร์มีระดับสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 78.82 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 39.95 บาทต่อลิตร ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลนั้น ประเทศสิงคโปร์ มีระดับสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 73.02 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 8 ของกลุ่มอาเซียน อยู่ที่ระดับ 29.94 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้าง มาตรการด้านภาษี และนโยบายการชดเชยราคาน้ำมันของประเทศนั้น” ผอ.สนพ. กล่าว
วัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (Hamas) หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวพุ่งสูงกว่า 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงตลาดซื้อขายของเอเชีย โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ราคาปรับเพิ่มขึ้น 4.18 ดอลลาร์ หรือ 4.94% ที่ระดับ 88.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบเวสต์เท็สซัส (WTI) ราคาปรับเพิ่มขึ้น 4.23 ดอลลาร์ หรือ 5.11% ที่ระดับ 87.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ราคา ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2566) ทั้งนี้ น้ำมันดิบราคาพลิกฟื้นกลับขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน หลังถูกเทขายมานานหลายสัปดาห์ จากความกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบความต้องการทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สนพ. จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อสามารถดำเนินการบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงานต่อประชาชนในระยะต่อไป