WEH ผู้นำด้านพลังงานลมใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งเป้าปี 2568 มีรายได้ 15,000 ล้านบาท ขยายการลงทุนในพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และธุรกิจ Healthcare & Wellness และธุรกิจใหม่ศักยภาพสูงทั้งในและต่างประเทศ สร้างการเติบโตต่อเนื่อง รักษาความสามารถทำกำไร 40-50% ต่อปี วางแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ ใน 5 ปี และเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ 2 พันล้านบาท
ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางแผนการเติบโตด้านพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ และจะขยายการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งจะขยายการลงทุนในธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจพลังงาน อย่างธุรกิจ Healthcare & Wellness และธุรกิจใหม่ศักยภาพสูงทั้งในและต่างประเทศ
ปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม จำนวน 8 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 717 เมกะวัตต์ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดชัยภูมิ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งทุกโครงการได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อย
ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีรายได้จากการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเป็นหลัก โดยปี 2564 มีรายได้รวม 10,985 ล้านบาท และสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับ 40-50% ทุกปี ส่วนครึ่งปีแรกปี 2565 มีรายได้รวมแล้ว 5,100 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ 5-7% คาดว่าทั้งปีนี้จะมีรายได้รวมประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยทิศทางในช่วงที่เหลือของปีนี้ ในช่วงไตรมาส 4 ถือเป็นไฮซีซั่นของทุกปี และค่าไฟฟ้าเอฟทีปี 2565 ที่ปรับสูงขึ้น โดยค่าเอฟทีที่ประกาศจาก กฟผ. สูงขึ้นประมาณ 6% จากปีก่อน อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายไฟฟ้าในปีนี้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากปริมาณลมลดลงจากปีที่แล้ว ขณะที่รายได้อื่น ๆ สูงกว่าปีที่แล้ว มาจากกำไรจากเงินลงทุนในระยะสั้นที่ยังไม่รับรู้ 470 ล้านบาท และการลดลงของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จำนวน 110 ล้านบาท หรือ 13% และสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ถึง 4,900 ล้านบาท
สำหรับแผนธุรกิจในช่วง 3-5 ปีจากนี้ (ปี 2563-2568) โดยจะลงทุนในโครงการพลังงานประมาณ 50,000 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แบ่งเป็น พลังงานลม 9 โครงการ กำลังการผลิตรวม 810 เมกะวัตต์ ในจังหวัดลพบุรี สระบุรี และนครราชสีมา เมื่อรวมกับกำลังการผลิตในปัจจุบัน จะทำให้มีกำลังการผลิตรวม 1,500 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 2 โครงการ กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมาจากการเข้าร่วมประมูลโครงการของภาครัฐที่กำลังจะเปิดให้ยื่นประมูลได้ในช่วงปลายปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เริ่มขยายธุรกิจนอกเหนือจากพลังงานลมไปลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ได้แก่ ธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม โดยได้เข้าไปลงทุนใน บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ผ่าน บริษัทธนา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด บริษัทย่อยของบริษัทฯ และยังมีการศึกษาการลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติมทั้งในและต่างประเทศ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง อาทิ ประเทศเวียดนาม กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรปตะวันออก เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานลมเป็น 95% จากรายได้ทั้งหมด แต่ในอนาคตปี 2568 รายได้จากพลังงานหมุนเวียนจะลดลงเป็น 90% และจะมีรายได้จากธุรกิจอื่นเข้ามา
ส่วนการนำ WEH เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ มองว่าในช่วงเวลานี้ยังไม่เหมาะสม เนื่องจากช่วงนี้ยังไม่มีโครงการใหม่ ๆ เข้ามาแต่จะมีโอกาสได้โครงการเพิ่มเติมในช่วงปี 2567-2568 ก็จะมีการปรึกษากับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ สามารถที่จะจัดหาเงินทุนด้วยวิธีอื่น และมีการจัดโครงสร้างบริษัทฯ ให้มีความเหมาะสมอยู่
ส่วนเรื่องข้อพิพาทต่าง ๆ ของบริษัทฯ ในปัจจุบันเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แม้ว่ายังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลหรืออนุญาโตตุลาการ ทั้งข้อพิพาทระหว่างครอบครัวของอดีตกรรมการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น และกรณีการโอนหุ้นไปยัง Golden Music Limited (GML) ปัจจุบันข้อพิพาทนี้อยู่ในขั้นตอนของการนัดพิจารณาเพื่อกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาของกระบวนการพิจารณาคดีทั้งหมด โดยบริษัทฯ คาดว่าข้อพิพาทดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดในช่วงปลายปี 2566
โดยบริษัทฯ เชื่อว่าข้อพิพาทดังกล่าวไม่กระทบโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โครงสร้างการบริหารและการดำเนินงานของบริษัทฯ เนื่องจากการดำเนินกิจการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมภายหลังจากที่บริษัทในเครือต่าง ๆ ของบริษัทฯ ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ผู้บริหาร พนักงาน รวมถึงผู้รับจ้างดูแลบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ สามารถดำเนินกิจการดังกล่าวได้ในลักษณะของการเป็นการดำเนินธุรกิจปกติ (Operation) ตามมาตรฐานหรือแนวทางปฏิบัติที่ดีของการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม
ด้าน ฐิติพัฒน์ ทวีสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่าย Corporate Finance Solutions and Reit บริษัท หลักทรัพย์ คาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากแผนการดำเนินธุรกิจดังที่กล่าวมา บริษัทฯ จึงเตรียมออกหุ้นกู้ระยะยาวชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.75% ต่อปี เสนอขายไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ให้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการขยายแผนธุรกิจพลังงานและลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน