สวทช. ร่วมกับองค์กรพันธมิตร อัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีเตรียมแผนรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ต้องระวัง ปี 66


กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย ร่วมกับองค์กรพันธมิตร ได้แก่ สถาบันไอเอ็มซี สมาคมอุตสาหกรรมชอฟต์แวร์ไทย สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัท เออาร์ไอที จำกัด จัดงานสัมมนาหัวข้อ “Top 10 Technology & Cyber Security Trends and Updates 2023” เพื่ออัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าจับตามองในปี 2566 รวมถึงแนวทางการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ต้องระวัง โดยเฉพาะประเด็น “มิจฉาชีพแฮกเข้าแอปธนาคาร” ที่เป็นข่าวดังเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เผยทักษะด้านดิจิทัลที่บุคลากรในสายดิจิทัลควรมีติดตัวในปี 2566 ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้าน Coding หรือ Graphic Design โดยภายในกิจกรรมสัมมนาได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เป็นประธานเปิดงาน

ผศ. ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีภารกิจในการพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศ ขับเคลื่อนประเทศผ่านเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนทั่วประเทศ เพื่อยกระดับ พัฒนา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง สวทช. มีเครื่องมือ บุคลากร และบริการที่พร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันการสร้างผู้ประกอบการ การพัฒนาบุคลากร การจ้างงาน ทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และ Food Innopolis อีกทั้งโปรแกรมต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนและยกระดับสร้างความเข้มแข็งให้กับทั้งบุคลากร SME สตาร์ตอัป และภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้สามารถแข่งขันบนเวทีระดับโลกได้ โดยในปีนี้ สวทช. วางแผนงานหลักในการขับเคลื่อน NSTDA Core Business ประกอบไปด้วย Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง Digital Healthcare Platform แพลตฟอร์มแก้ปัญหาการบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ FoodSERP แพลตฟอร์มให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์กลุ่มสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional ingredient) ในรูปแบบ One stop service และ Thailand i4.0 Platform แพลตฟอร์มให้บริการ Digital Transformation สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การขับเคลื่อนองค์กร และต้องให้ภาคส่วนต่าง ๆ นำความรู้ เครื่องมือ เพื่อนำงานวิจัยแก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมที่เป็นโจทย์สำคัญเร่งด่วนของประเทศ และที่สำคัญคือ ประชาชนและชุมชนต้องเข้าถึงงานวิจัยที่ใช้ได้จริง

ด้าน ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย กล่าวว่า ซอฟต์แวร์พาร์คเป็นองค์กรภายใต้ สวทช. ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนากำลังคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลรวมถึงสายอาชีพด้านไอที โดยการสัมมนาหัวข้อ Top 10 Technology & Cyber Security Trends and Updates เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปี ร่วมกบองค์กรพันธมิตร มีวัตถุประสงค์เพื่ออัปเดตแนวทาง แบ่งปันและถ่ายทอดความรู้เรื่องแนวโน้มของเทรนด์เทคโนโลยี และภัยคุกคามทางดิจิทัลที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียทั้งต่อตัวบุคคลและองค์กร รวมไปถึงให้ความรู้ด้านอาชีพและทักษะที่ตลาดแรงงานของอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นที่ต้องการในปี 2566 เพื่อให้องค์กรและบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล ได้มีแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ วางแผน และเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง

โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ทางซอฟต์แวร์พาร์คได้มีการจัดกิจกรรมอบรมและสัมมนา เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลมากกว่า 2,500 ราย ผ่านหลักสูตรและโปรแกรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารระดับสูง นักพัฒนา หรือกลุ่มผู้ที่ต้องการได้รับประกาศนียบัตรในระดับสากล นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมสนับสนุนผู้ประกอบการทางธุรกิจเทคโนโลยี ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและมีศักยภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลของประเทศ และรวมไปถึงบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการพื้นที่สำนักงาน ห้องอบรม/สัมมนา และ ARI Co-InnoSpace

ทั้งนี้ภายในงานยังได้วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี ได้เล่าถึงความน่าสนใจเกี่ยวกับ Top 10 Technology และแนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัลปี 2023 ที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อม คุณสมหมาย กรังพานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี เอ็น พี โซลูชั่น จำกัด และกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมชอฟต์แวร์ไทย (ATSI) คุณรัชต์ รองหานาม Graphic Design Specialist บริษัท เออาร์ไอที จำกัด คุณไพบูลย์ พนัสบดี นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย คุณปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาครัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน

สำหรับผู้สนใจในบริการทางด้านการพัฒนาบุคลากร หรือพัฒนาผู้ประกอบการ หรือกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงบริการด้านพื้นที่ของทางเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก: Software Park Thailand เว็บไซต์ swpark.or.th หรือ โทร. 02-583-9992, 02-564-7000


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save