บริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท แคริออน อีเวนท์ จำกัด ประเทศสิงคโปร์ แถลงข่าวประกาศความพร้อมในการจัดงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชีย“งานพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย” (Sustainable Energy Technology Asia- SETA 2022), งานเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บประจุของเอเชีย (Solar+Storage Asia-SSA 2022) และงาน Enlit Asia 2022 งานด้านผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบกริดระดับโลก โดยเป็นการจัดงานพลังงานร่วมกัน 3 งาน ในวันที่ 20-22 กันยายน 2565 ณ ศูนย์ฯไบเทค บางนา พร้อมกับจัดให้มีเวทีเสวนาพิเศษ “แผนพลังงานไทยเพื่อมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์กับการขับเคลื่อนระบบการผลิตไฟฟ้าและการใช้กระแสไฟฟ้าของไทย” โดยผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สมาคมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (อาร์อี 100) สมาคมอุตสาหกรรมพลังแสงอาทิตย์ไทย (TPVA)
การจัดงาน “SETA 2022, Solar+Storage Asia 2022 และ Enlit Asia 2022” ในครั้งนี้ จัดภายใต้หัวข้อหลัก “Accelerating ASEAN’s Energy Transition to Achieve Carbon Neutrality” เพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนนโยบายพลังงานและเศรษฐกิจของรัฐบาลตามการประกาศเจตนารมณ์ในเวทีการประชุม COP26 ผู้นำโลกร่วมเจรจาเพื่อเร่งดำเนินงานแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมุ่งมั่นการปล่อยคาร์บอนของประเทศตนเอง กระแสความร่วมมือระหว่างประเทศทั่วโลก พร้อมที่จะร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการที่จะสนับสนุนการใช้พลังงานที่ยั่งยืนอย่างจริงจัง ประเทศไทยเองได้เตรียมพร้อมตอบรับในการจัดทำแผนพลังงานฉบับใหม่ มุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ให้มีการเร่งการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานจากแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยทั้ง 3 งาน มุ่งสร้างสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในนวัตกรรมพลังงาน และสร้างความแข็งแกร่งและการขยายฐานตลาดในกลุ่มพลังงาน โดยปีนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านการไปสู่การใช้เทคโนโลยีสะอาด
ทั้งนี้ในปี 2565 นี้ ได้รับเกียรติพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสาส์นแสดงความยินดี และดร.ประจิน จั่นตอง ให้เกียรติเป็นประธานการจัดงาน SETA ยังคงได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากกระทรวงพลังงาน สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และวิจัย กระทรวงดิจิทัล กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในการตอบโจทย์ต่อเป้าหมายในการยกระดับประเทศไทยสู่เวทีโลก และการสร้างมาตรฐานที่ดีและการมีส่วนร่วมให้กับผู้ที่มีส่วนได้เสียในด้านพลังงานและสังคมโดยรวม พร้อมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลและภารกิจที่สำคัญของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆได้เข้าร่วมรับฟังหัวข้อต่างๆ ด้านนวัตกรรมพลังงาน รวมถึงมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ ในด้านนวัตกรรมพลังงานในระดับโลก และถือเป็นโอกาสพิเศษสุดที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกและประเด็นสำคัญของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ PDP ฉบับล่าสุด เป็นครั้งแรกก่อนใคร จากผู้แทนระทรวงพลังงานที่จะนำแผน PDP มาอภิปรายถึงยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศไทยและความคาดหวังที่จะบรรลุเป้าหมายในด้านการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เช่น พลังงานไฮโดรเจน
สำหรับหัวข้อต่าง ๆ ที่จะมีการอภิปรายบนเวที SETA 2022, Enlit Asia 2022 และ Solar+Storage Asia 2022 ตลอดระยะเวลาการจัดงานทั้ง 3 วัน จะเป็นประเด็นสอดคล้องกับแผน PDP ฉบับใหม่ ทั้งสิ้น โดยมีเนื้อหาสำคัญ 6 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การผลิตไฟฟ้าแบบปลอดคาร์บอน (Decarbonised Power Generation) (2) การเสริมความแข็งแกร่งและสร้างโครงข่ายระบบไฟฟ้าในอนาคต (Fortifying and Creating a Next-Gen Power Grid) (3) การพัฒนาระบบไฟฟ้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (The Electrification of The ASEAN Economy) (4) ความผันผวนของราคาไฟฟ้าจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด (Electricity Prices Surging due to unexpected Circumstances) (5) การผลักดันพลังงานหมุนเวียนให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ (Enabling Renewable Energy to meet RE Targets) และ (6) แผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (The Roadmap to Net-Zero)
งานประชุมและนิทรรศการทั้ง 3 งานนี้ นับเป็นเวทีด้านพลังงานที่สำคัญที่ผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคจะได้มาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้โซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมด้านพลังงานที่แท้จริง รวมถึงยังเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้มีการอภิปรายและถกกันในประเด็นต่างๆ ที่มีความสำคัญตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และเชิงพาณิชย์ของธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน อีกทั้งจะมีการนำเสนอข้อมูล และรายงานต่างๆ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานต้องเผชิญ
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังมีโอกาสในการขยายเครือข่ายและการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกด้านพลังงานจากวิทยากรที่มาจากองค์กรอุตสาหกรรมพลังงานชั้นนำกว่า 200 แห่ง ที่จะหยิบยกประเด็นด้านพลังงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในยุคปัจจุบันที่อุตสาหกรรมพลังงานโลกกำลังวิวัฒนาการอย่างไม่หยุดนิ่ง วิทยากรที่เข้าร่วมจะบรรยายและอภิปรายในประเด็นที่ท้าทายเหล่านี้ อาทิ ผู้บริหารจาก ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้ามาเลเซีย (TNB) การไฟฟ้าแห่งเวียดนาม (EVN) การฟ้าแห่งอินโดนีเซีย (PLN) และตัวแทนจากภาคเอกชน เช่น Indonesia Power, Trilliant, Wartsila, Shell, Mitsubishi,Siemens,ABB,JERA,Toyota และ Saudi Aramco และ อีกหลายองค์กร
ความแข็งแกร่งจาก 3 ผู้จัดงานประชุมและแสดงสินค้าชั้นนำอย่าง SETA, Enlist Asia และ Solar& Storage Asia ที่จับมือเป็นเจ้าภาพร่วมกัน คาดว่าจะสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมงานได้มากกว่า 10,000 คน จากธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานทั่วภูมิภาคเอเซีย เอเซียแปซิฟิค และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยมีบริษัทด้านพลังงานชั้นนำ รวมถึงอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กว่า 350 บริษัท มาจัดแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุดและโซลูชั่นด้านพลังงาน รวมถึงพร้อมให้ความรู้ คำแนะนำ และข้อมูลเชิงลึก เพื่อรับมือกับความท้าทายในอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ถือได้ว่าประเทศไทยยืนอยู่แถวหน้าในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาค และมีนโยบายเชิงรุกรวมถึงการกำกับดูแลด้านพลังงานที่ส่งเสริมและก่อให้เกิดแรงดึงดูดการลงทุนมหาศาล นอกจากนั้น ประเทศไทยยังได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2065-70 ซึ่งเป็นคำมั่นที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายพลังงานสะอาดในอนาคต