PEA Digital Transformation พลิก “กฟภ.” สู่องค์กรดิจิทัล


การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. (PEA) กำลังเดินหน้าเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใต้การนำของ “คุณสมพงษ์ ปรีเปรม” ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่มีวิสัยทัศน์ต้องการให้ PEA “มุ่งสู่องค์กรที่เป็นเลิศด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ตอบสนองความคาดหวังของลูกค้า ร่วมสร้างคุณค่าสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล”

PEA Digital Transformation พลิก “กฟภ.” สู่องค์กรดิจิทัล

5 ยุทธศาสตร์เปลี่ยนองค์กรสู่ “Digital UtilityPEA ได้เริ่มดำเนินงานโครงการต่างๆ รวม 49 โครงการเพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ “องค์กรดิจิทัล” หรือ Digital Utility โดยแบ่งเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

  1. ยกระดับไฟฟ้าให้เป็นเลิศด้วยดิจิทัล (Digital Energy Operation) จำนวน 11 โครงการ
  2. เชื่อมโยงลูกค้าด้วยเทคโนโลยี (Connected Customer) จำนวน 8 โครงการ
  3. ปรับเปลี่ยนสู่องค์กรสมัยใหม่ (Next Generation Enterprise) จำนวน 7 โครงการ
  4. เสริมสร้างบุคลากรแห่งอนาคต (Workforce of the Future) จำนวน 6 โครงการ
  5. แพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) จำนวน 17 โครงการ

คุณสมพงษ์ กล่าวว่า การพลิกองค์กร PEA สู่การเป็น Digital Utility ใช้เวลาประมาณ 5-6 ปี เรื่องแรกที่ทำคือ การยกระดับระบบไฟฟ้าให้เป็นเลิศด้วยดิจิทัล ด้วยการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้า เนื่องจากการดิสรัปชันทางเทคโนโลยีทำให้การดูแลระบบไฟฟ้าไม่เหมือนเดิม ฉะนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือเรื่อง Smart Grid (สมาร์ทกริด) หรือโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งสามารถติดตามตรวจสอบและบริหารจัดการได้อย่างมีระบบ

“เดิมพลังงานไหลด้านเดียว หมายความว่า ผู้บริโภคใช้ไฟฟ้าอย่างเดียว แต่ปัจจุบันผู้บริโภคมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง รวมทั้งขายเข้าระบบ อย่าง Solar Roof Top รวมทั้งแนวโน้มปริมาณการใช้ไฟฟ้าในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น เช่น การใช้งานยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ฉะนั้นนอกจากจะมีการใช้พลังงานมากขึ้นแล้ว พลังงานยังต้องไหล 2 ทิศทางคือไหลเข้าไหลออก”

Solar Roof Top

“เมื่อแนวโน้มการใช้พลังงานเป็นแบบนี้การจัดการระบบแบบเดิมจะทำไม่ได้ จำเป็นต้องมีโครงข่ายสมาร์ทกริด ซึ่งมีระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (Advanced Metering Infrastructure : AMI) หรือสมาร์ทมิเตอร์ ที่สามารถมอนิเตอร์การใช้พลังงาน รู้ว่าพลังงานไหลเข้าเท่าไหร่ ไหลออกเท่าไหร่ รวมทั้งสามารถส่งข้อมูลผ่านระบบสื่อสารแบบเรียลไทม์”

ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า โครงการพัฒนำโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งแรกอยู่ในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยภายในปี พ.ศ. 2563 พัทยาทั้งเมืองจะเป็นโครงข่ายสมาร์ทกริด โครงการนี้เป็นโครงการทดลองที่ใหญ่มาก มีการติดสมาร์ทมิเตอร์ 140,000 เครื่อง ซึ่งจะทำให้โครงข่ายของพัทยาเป็นโครงข่าย อัจฉริยะแห่งแรกของประเทศไทย

PEA Digital Utility

”บุคลากร” หัวใจหลักของการเปลี่ยนแปลงองค์กร

ในฐานะผู้นำที่ต้องพาองค์กรเดินหน้าเปลี่ยนแปลง ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมองว่าหัวใจสำคัญในการปรับเปลียนองค์กรก็คือ บุคลากร ฉะนั้นการเสริมเสร้างบุคลากรแห่งอนาคต จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

“คนเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะสร้างเทคโนโลยี อะไรมาถ้าคนไม่ทำก็ไปไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องสื่อสารให้พนักงานเข้าใจว่าทำไมต้องปรับ ถ้าไม่ปรับจะเกิดอะไรขึ้น องค์กรจะเป็นอย่างไรในอนาคต สิ่งที่เราปรับจะทำให้เกิดหลายอย่างตามมามหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลดาต้าต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างธุรกิจใหม่ให้กับองค์กร”

“ผมไม่มีนโยบายเอาพนักงานออก แต่ผมจะเพิ่มทักษะให้กับพนักงาน สร้างธุรกิจใหม่และให้เขาไปทำ”

คุณสมพงษ์ กล่าวอีกว่า การเตรียมบุคลากรสำหรับอนาคตต้องเปลี่ยน Mindset ของคน คือต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Digital Utility คืออะไร เพราะ Digital Utility คือการเปลี่ยนกระบวนการทำงานเดิมใหม่ทั้งหมดโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเสริม เช่น จากเดิมอาจมี 10 ขั้นตอน จะทำอย่างไรให้เหลือ 3 ขั้นตอน ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเสริม

ทุกกระบวนการทางธุรกิจของ PEA จะต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ซึ่งการสื่อสารให้คนทั้งองค์กรเข้าใจในทิศทางเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นสิ่งที่ต้องสื่อสารตลอดเวลา ฉะนั้นผู้บริหารในทุกระดับต้องเข้าใจตรงกันว่า Digital Utility คืออะไร จากนั้นก็ต้องเริ่มปรับวิธีคิดการทำงาน

เมื่อสื่อสารเสร็จก็ต้องเพิ่มทักษะพนักงานเพราะงานบางอย่างอาจจะเปลี่ยนไป เนื่องจากต้องทำงานบนดิจิทัลทั้งหมด เช่น การประชุมจะไม่มีการใช้กระดาษอีกต่อไป หรือระบบการเบิกจ่ายต่างๆ ก็จะให้พนักงานทำผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งขณะนี้กำลังเริ่มทำแล้ว

“เรากำลังสร้างการรับรู้ให้กับคนในองค์กร ซึ่งไม่ใช่แค่รับรู้จากการฟัง แต่รับรู้จากการทำด้วย” ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าว

สมพงษ์ ปรีเปรม
“คุณสมพงษ์ ปรีเปรม” ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ปรับเปลี่ยนสู่องค์กรสมัยใหม่

ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญอีกประการในการพลิกโฉมองค์กรไปสู่ Digital Utility ก็คือการปรับปรุงข้อมูลมหาศาลที่กระจัดกระจายอยู่ในองค์กรให้เป็นระเบียบ เปลี่ยนข้อมูลที่อยู่ในกระดาษให้กลายเป็นดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งในการเตรียมฐานข้อมูลเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพราะข้อมูลไฟฟ้ามีจำนวนมาก “ในอนาคตเมื่อปรับปรุงข้อมูลเหล่านี้เสร็จ จะนำไปสู่การบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถบริหารข้อมูลแบบเรียลไทม์ มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง การตัดสินใจของผู้บริหารจะทำได้อย่างรวดเร็ว”

“ทั้งหมดนี้อาจต้องใช้เวลา 4-5 ปี ในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย แต่ต้องเริ่มวันนี้ ยังไม่มีใครประกาศ ผมประกาศก่อน ซึ่งตอนนี้ก็เป็นการวางรากฐานเพื่อต่อยอดในอนาคต”

สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมโยงลูกค้าด้วยเทคโนโลยี คุณสมพงษ์ กล่าวว่า PEA มีแผนปฏิบัติการดิจิทัลชัดเจนว่ำใน 5 ยุทธศาสตร์ในการปรับเปลี่ยนองค์กรจะมีแพลตฟอร์มดิจิทัลอะไรบ้าง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทั้งองค์กร ซึ่งตามแผนปฏิบัติการจะมีแพลตฟอร์มดิจิทัล 62 แพลตฟอร์ม แยกไปตาม 5 ยุทธศาสตร์ อาทิ การยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security Enhancement) งานพัฒนาเครือข่ายรองรับศูนย์ข้อมูล (Data Center) โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มทั้งหมดมีการวางกรอบเวลาไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

คุณสมพงษ์ กล่าวถึงการเชื่อมโยงลูกค้าด้วยเทคโนโลยีว่าลูกค้าในวันนี้ไม่เหมือนเดิมและมีทางเลือกมากขึ้น เช่น เดิมลูกค้าเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเดียว แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทำให้ลูกค้าผลิตไฟฟ้าเองได้ รวมทั้งนำออกมาขายก็ได้ ซึ่งอนาคตการซื้อขายพลังงานระหว่างครัวเรือนก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้นเซอร์วิสที่จะนำไปบริการลูกค้า นอกจากจะต้องเป็นเซอร์วิสที่ดีขึ้นแล้ว รูปแบบการให้บริการใหม่ๆ และความสะดวกในการใช้งานต้องเกิดขึ้น

PEA นำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการให้บริการลูกค้าให้มีประสิทธิภาพและช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า PEA Smart Plus ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าไฟฟ้า แจ้งติดตั้งมิเตอร์รื้อถอนมิเตอร์ ฯลฯ สามารถทำได้บนแอปพลิเคชันเดียว”

ระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพมากขึ้นและนำไปสู่ค่าไฟที่ถูกลง

ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนองค์กรของ PEA ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์แน่นอน อันดับแรก คือ ได้รับบริการที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น แก้ปัญหาไฟตกไฟดับได้มากขึ้นระบบไฟฟ้าจะมีความมั่นคงและบริหารจัดการได้ ที่สำคัญจะนำไปสู่ค่าไฟที่ถูกลงในอนาคต เพราะการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ก็จะมีบริการใหม่ๆ ตามมาจากข้อมูลที่ได้รับเพิ่มมากขึ้นจากการนำดิจิทัลมาใช้ เช่น Behind Meter Business หรือ ธุรกิจหลังมิเตอร์ ที่จะเกิดจากโครงข่ายสมาร์ทกริดและสมาร์ทมิเตอร์ ซึ่งจะสามารถติดตามตรวจสอบและบริหารจัดการการใช้พลังงานในครัวเรือนได้ รวมทั้งอาจมีบริการใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาในอนาคตที่จะให้บริการลูกค้าในครัวเรือน ซึ่งธุรกิจนี้จะเป็นหนึ่งในธุรกิจใหญ่ของ PEA ในอนาคต

ชู 2 นวัตกรรมในงาน Thailand Lighting Fair 2019 และ Thailand Building Fair 2019

ในปีนี้ PEA เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Thailand Lighting Fair 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นพร้อมกับงาน Thailand Building Fair 2019 ระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2562 โดยสิ่งที่ PEA จะนำไปจัดแสดงภายในงานมี 2 ผลงาน คือ

  1. ผลิตภัณฑ์ “PEA IHAPM” (Intelligent Home Appliances Power Monitoring) เป็นเครื่องตรวจจับและควบคุมการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในที่พักอาศัย และอาคารสำนักงานทั่วไป รวมทั้งยังสามารถแจ้งเตือนเมื่อมีการใช้ไฟฟ้าที่ผิดปกติหรือกระแสไฟฟ้าดับผ่านทางโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนด้วยแอปพลิเคชัน IHAPM ภายในบูธของ PEA จะมีการจำลองห้องนั่งเล่นภายในบ้าน โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ห้องนั่งเล่นรูปแบบเก่า ที่มีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นระบบปกติทั่วไป และห้องนั่งเล่นรูปแบบใหม่ที่มีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ารองรับระบบ IoT โดยห้องทั้ง 2 รูปแบบจะแสดงการควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่าน Application IHAPM
  2. PEA Solar Hero เป็นแอปพลิเคชันแรกในประเทศไทยที่นำ Digital Platform มาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มีความประสงค์จะติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เองแบบครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การช่วยวิเคราะห์การใช้พลังงานไฟฟ้าเบื้องต้น การแนะนำขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่เหมาะสม การเลือกรูปแบบการลงทุน แหล่งเงินทุนจากธนาคาร การคำนวณความคุ้มทุน รวมถึงแนะนำผลิตภัณฑ์และผู้ติดตั้งที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนสามารถติดตามข้อมูลการใช้พลังงานผ่านแอปพลิเคชัน

PEA Solar Hero

ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า PEA หวังว่างาน Thailand Lighting Fair ซึ่งจัดร่วมกับ Thailand Building Fair จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะตอกย้ำจุดยืนในการเป็นเวทีส่งเสริมศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงนวัตกรรมไฟฟ้าแสงสว่าง เทคโนโลยีอาคารอัจฉริยะ และการบริหารจัดการพลังงานแห่งภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้สามารถเติบโตและแข่งขันในตลาดโลกได้ อันจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

พบกับนวัตกรรมจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในงาน Thailand Lighting Fair, Thailand Building Fair และ Secutech Thailand 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นพร้อมงาน Digital Thailand Big Bang ภายใต้แนวคิดร่วม Smart City Solutions Week 2019 ระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2562 ณ ฮอลล์ 104-105 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา


Source: นิตยสาร Electricity & Industry Magazine ปีที่ 26 ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2562 คอลัมน์ Cover Story


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save