สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) IEEE POWER & ENERGY SOCIETY (THAILAND) ได้จัดงานเสวนา IEEE PES DAY 2023 ในหัว “พลังขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ปลอดภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ได้รับเกียรติจาก วิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง ในฐานะ Chairman, IEEE POWER & ENERGY SOCIETY (THAILAND) เป็นประธานเปิดงานเสวนา ในงานดังกล่าวยังได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ รองศาสตราจารย์ ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี และได้รับเกียรติจากฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นพิธีกรในครั้งนี้
วิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า วิกฤติการณ์โลกร้อนเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในหลาย ๆ ปี ผ่านมา อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พ.ศ. 2566 ข้อมูลจาก NASA คาดการณ์ว่า พ.ศ. 2566 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติการณ์ที่ผ่านมา หากอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลกระทบและความเสียหายไปทั่วทุกมุมโลก
รวมทั้งประเทศไทยหากย้อนมองเหตุการณ์หมอกควันและไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จะพบมีความรุนแรงมากกว่าทุกปี จนทำให้ค่ามลพิษทางอากาศ พุ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากฤดูแล้งที่มาเร็วและยาวนานกว่าปีก่อน ๆ ชัดเจนว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่เกิดขึ้นแล้วและกำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ
ทำให้ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ได้รับความสนใจ ทั้งในระดับนานาชาติรวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศ มีการร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยทุกฝ่ายพยายามพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
ทั้งนี้ประเทศไทย ได้แถลงแสดงจุดยืน บนเวที COP27 โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2608 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายใน พ.ศ. 2593 รวมทั้งการเพิ่มการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายใน พ.ศ. 2573 ซึ่งเราจำเป็นต้องเริ่มดำเนินการในทุกด้านตั้งแต่บัดนี้ เพราะเราเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเราเอง ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในประเทศจะทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ และจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้อย่างรวดเร็ว