บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ประกาศยุทธศาสตร์ GreenLeap – Global and Green กลยุทธ์เชิงรุกระยะยาวเพื่อขับเคลื่อนองค์กร มุ่งสู่ตลาดพลังงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป สู่เป้าหมายการเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก และบรรลุเป้าหมายก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายใน พ.ศ. 2593 พร้อมตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ ภายใน พ.ศ. 2573 และมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 80-90% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ GreenLeap – Global and Green ได้นำเอาวิสัยทัศน์ “สร้างพลังงานให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี” (Empowering the World Compassionately) และค่านิยมองค์กรของ BGRIM มาประยุกต์เป็นแนวทางของ GreenLeap ที่จะพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก และเป็นผู้นำด้านการพัฒนาด้านพลังงานที่ยั่งยืนและปลอดภัย โดยยังคงยึดมั่นบนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี
ยุทธศาสตร์ GreenLeap ประกอบด้วยแผนเชิงกลยุทธ์ 3 ประการ คือ 1.Industrial Solutions จัดหาพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรมภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าที่หลากหลาย โดยจะใช้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแบตเตอรี่ รวมถึงการเตรียมพร้อมในการรองรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบที่รองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป (distributed energy source) เพื่อรักษาความสมดุลของโครงข่ายไฟฟ้าของ BGRIM รวมถึงสนับสนุนลูกค้าด้านการชดเชยคาร์บอนและการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน โดยให้บริการที่ครบวงจรแก่ลูกค้า 2.Independent Power Producer ขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของ BGRIM ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเตรียมพร้อมพอร์ตในประเทศสู่การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประกอบด้วย Flexible Power ปรับปรุงประสิทธิภาพของพอร์ตโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม การบริหารจัดการระบบสำรองไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เพื่อสร้างสมดุลในการรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เมื่อโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจะมีบทบาทสำคัญในการปรับสมดุลของโครงข่ายไฟฟ้า รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก และการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานระยะกลางและระยะยาว และ Renewable Power จะใช้ประสบการณ์ในการดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ความร่วมมือระดับโลกกับพันธมิตร พันธสัญญาต่อชุมชนและสังคม และพัฒนาเครื่องมือซอฟต์แวร์ขั้นสูงที่จะเป็นกรรมสิทธิ์ของเรา (Proprietary Software) สำหรับบริหารจัดการโครงการพลังงานหมุนเวียน โดยมุ่งเน้นพื้นที่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจทั้งในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและยกระดับการลงทุน 3.Sustainable Fuels การจัดหาก๊าซผ่านสัญญาระยะยาว โดยใช้ใบอนุญาตผู้จัดหาและค้าส่งของ บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด เสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอุตสาหกรรมและเคมีภัณฑ์ และเชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับภาคส่วนที่ยากต่อการลดทอน เช่น การบินและการเดินเรือ
ยุทธศาสตร์ GreenLeap ได้ตั้งเป้าหมายจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปีละมากกว่า 35,000 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไร EBITDA ที่ 35% ภายในปี 2573 และยังคงรักษาโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง และตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่า 100,000 ล้านบาท จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 3,379 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ความยั่งยืน และการจัดการห่วงโซ่คุณค่าอย่างรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
บริษัทจะมุ่งเน้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงพลังงานรูปแบบอื่น เช่น ไอน้ำ โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตเป็นมากกกว่า 50% ในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% ส่วนที่เหลือมาจากก๊าซธรรมชาติ 75% ขณะที่มองโอกาสการพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม และเอเชียเหนือ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน รวมถึงประเทศแถบยุโรป ที่ไม่มีการแทรกแซงทางการเมือง กระจายความเสี่ยงจากต้นทุนพลังงาน ภายใต้หลักการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า 12% ซึ่งปัจจุบัน BGRIM มีการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 20 โครงการ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ 35 โครงการ
ศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ – การเงินและบัญชี BGRIM กล่าวว่า ในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2566-2570) มีการตั้งงบลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่ BGRIM จะลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท เนื่องจากเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากการกู้ของโครงการ โดยส่วนที่ BGRIM จะต้องลงทุนไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท แต่จะใช้ Operating cash flow ที่มีประมาณ 45,000 ล้านบาท กระแสเงินสด 10,000 ล้านบาท และการออกหุ้นกู้ 15,000 ล้านบาท ซึ่งมีแผนออกหุ้นกู้ในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 ปีนี้
การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ส่วนใหญ่ประมาณ 80-90% จะเป็นโครงการที่เป็นพลังงานทดแทน มุ่งเน้นไปที่โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) พลังงานลม โซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งปี 2566-2567 กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 4,700 เมกะวัตต์ และสัดส่วนของพลังงานทดแทนจะเพิ่มเป็น 30-35%
นพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส – สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืน กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะต้องมีการพัฒนาโครงข่ายระบบส่งและระบบจำหน่าย (Grid Modernization) ให้พร้อมรองรับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่ BGRIM ลงทุน ต้องมีการพัฒนาทางด้านซอฟต์แวร์ และนำเอาปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IOT เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ มีการพัฒนา Data Management และ Machine Learning นอกจากนี้ จะมีการลงทุนด้าน EV Eco System ภายในนิคมฯ ที่จะร่วมสร้างโครงข่ายพลังงานอัจฉริยะ (Smart City) ที่จะตอบโจทย์ลูกค้าอุตสาหกรรม ที่จะเริ่มตั้งแต่ต้นทางคือโรงไฟฟ้า ระบบส่ง ที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และการจัดหา Feet รถบรรทุก ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับพาสเนอร์ 2-3 ราย ที่มีความเชี่ยวชาญ คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนในเร็ว ๆ นี้