กระทรวงพลังงาน เดินหน้าขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนเต็มกำลัง


กระทรวงพลังงาน เดินหน้าขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนเต็มกำลัง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากหลังผ่านมติจากที่ประชุม กพช. ลงพื้นที่ภาคอีสานทั้งที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอุบลราชธานี เป้าหมายเพื่อผลักดันวิสาหกิจชุมชนริเริ่มตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นรูปธรรม มุ่งสู่เป้าหมาย 700 MW ทั่วประเทศภายในปี พ.ศ. 2563 นี้

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานได้ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเพื่อพบปะและสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ทั้งจากพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี มหาสารคาม ศรีสะเกษ นครราชสีมา และสุรินทร์

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้รับทราบหลักเกณฑ์รูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งวิสาหกิจชุมชนสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมจัดตั้งได้หากมีองค์ประกอบเป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการ โดยจะมีคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานเป็นผู้พิจารณาอนุมัติโครงการและบริหารจัดการ ตลอดจนกำกับดูแลให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

โรงไฟฟ้าชุมชน ภาคอีสาน

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ปริมาณไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ (MW) เป็นโรงไฟฟ้าประเภท Non Firm ที่สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานร่วมด้วยได้จะเปิดรับซื้อในปี พ.ศ. 2563 ปริมาณ 700 MW และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าแบบ Quick Win คือโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้แล้วเสร็จ ไฟฟ้าจะเข้าระบบภายในปี พ.ศ. 2563 ส่วนโครงการทั่วไปเข้าระบบปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ส่วนรูปแบบการร่วมทุน จะมีกลุ่มผู้เสนอโครงการ ซึ่งอาจเป็นภาคเอกชนเข้าร่วมกับองค์กรภาครัฐก็ได้ จะถือในสัดส่วน 60-90% และอีกกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน (สมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) ถือในสัดส่วน 10-40% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า 10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 40%) โดยส่วนแบ่งรายได้จะให้กองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้นๆ โดยหากเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย และกรณีเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไฮบริด ส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนราคารับซื้อก็อยู่ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 3-5 บาทต่อหน่วยตามแต่ละประเภทเชื้อเพลิง

กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นรูปธรรมโดยเร็วโดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 นี้จะสามารถรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วประเทศได้ราว 700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีส่วนให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าฯ ลดภาระค่าใช้จ่าย มีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพของชุมชน ตัวอย่างเช่น ห้องเย็น เครื่องจักรแปรรูปการเกษตร เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะยังได้รับฟังรายงานจากศูนย์ส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโนนรัง ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กรมการค้าข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวฮางงอก ซึ่งวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้มีแผนจะจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้นด้วยส่วนจังหวัดอุบลราชธานีนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามความพร้อมของการดำเนินการให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ที่พร้อมปรับปรุงระบบรองรับพืชพลังงานหญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ตามกรอบนโยบายเร่งด่วน Quick Win

โรงไฟฟ้าชุมชน ภาคอีสาน

โดยช่วงต้นเดือนมกราคม 2563 สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้ตรวจติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ครอบคลุมจังหวัดยโสธร ศรีสะเกษอำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

ซึ่งการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้มีภารกิจสำคัญคือ การประชุมหารือร่วมกับ 4 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี และติดตามการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานตามนโยบายที่ได้มอบหมายไว้ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก สถานีพลังงานชุมชนการของบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อการแก้ปัญหาภัยแล้ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงการติดตามพื้นที่ที่ต้องการความมั่นคงด้านไฟฟ้า เป็นต้นซึ่งภาพรวมขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมตามนโยบายที่ได้มอบหมายไว้

โรงไฟฟ้าชุมชน ภาคอีสาน

โดยในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น ได้ผ่านความเห็นชอบเกี่ยวกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2563 นี้ จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของผู้ผลิตรายเล็กมาก (VSPP) ในรูปแบบ FiT จำนวนรวม 700 เมกะวัตต์ (MW) โดยให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้า Quick Win ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จเข้าร่วมโครงการก่อน ซึ่งโครงการจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี พ.ศ. 2563 นี้

สำหรับในการร่วมทุนได้วางหลักเกณฑ์ไว้โดยให้ความสำคัญไปที่ประโยชน์ต่อชุมชนเป็นหลัก โดยผู้เสนอโครงการที่อาจเป็นภาคเอกชนหรืออาจร่วมกับองค์กรของรัฐจะถือหุ้นในโครงการได้ 60%-90% ส่วนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 10%-40% โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน และยังมีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ตามหลักเกณฑ์ รวมทั้งต้องมีแผนจัดหาเชื้อเพลิง รับซื้อเชื้อเพลิงราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชนแบบคอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ด้วย

“เป้าหมายหลักของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนคือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยนโยบายพลังงาน ซึ่งการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่า 7 หมื่นล้านบาท ก่อเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ชุมชนรอบโรงไฟฟ้ายังจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะได้เข้าเยี่ยมชมโครงการด้านพลังงานทดแทนของบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการผลิตเอทานอล ผลิตก๊าซชีวภาพ และโรงไฟฟ้าขนาด 5.6 MW เพื่อดูการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เนื่องจากเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่แสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการตามกรอบเวลาของนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเร่งด่วน Quick Win

หญ้าเนเปีย

โรงงานมีระบบผลิตไบโอก๊าซที่ผลิตจากการย่อยกากมันสำปะหลังที่ได้รับจากโรงแป้งมันฯ สามารถปรับปรุงระบบรองรับหญ้าเนเปียร์ได้ภายใน 6 เดือน โดยมีกากมันสำปะหลังซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตเอทานอลนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเสริมประสิทธิภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพ และมีโรงไฟฟ้าขนาด 5.6 MW ที่มีสายส่งขนาด 115 kV และ 22 kV พร้อมรับการจำหน่ายไฟฟ้า

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังมีสมาชิกกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรที่มีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่บริเวณรอบโรงงาน มีความต้องการและมีความพร้อมในการเข้าร่วมถือหุ้นกับโรงไฟฟ้า โดยกลุ่มบริษัทฯ มีการประกันราคาและรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังที่แน่นอนกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีระบบท่อส่งและกระจายน้ำให้ชุมชน สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในการปลูกหญ้าเนเปียร์ และมีโครงการสนับสนุนกากมันสำปะหลังเพื่อเป็นสารปรับปรุงบำรุงดินรวมทั้งกลุ่มบริษัทฯ มีที่ดินปลูกหญ้าเนเปียร์มากกว่า 2,000 ไร่ มีประสบการณ์ในการปลูกและจัดการแปลงหญ้าเนเปียร์มากว่า 5 ปี มีผลผลิตสูงเฉลี่ยประมาณ 10 ตันต่อไร่ สามารถเป็นแปลงต้นแบบสาธิตให้กลุ่มเกษตรกรได้มาศึกษาเรียนรู้ได้


Source: นิตยสาร Electricity & Industry Magazine ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563
คอลัมน์ Scoop โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save