ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) …อำลาตำแหน่งนายกสมาคมฯ พร้อมรับตำแหน่งใหม่และส่งไม้ต่อให้คณะกรรมการชุดใหม่


ดร.ยศพงษ์ ลออนวล

ในช่วงเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก หนึ่งในผู้มีส่วนขับเคลื่อนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยก็คือ ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเเละนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยคนแรก Interview ฉบับนี้มาร่วมพูดคุยถึงเเนวทางการดำเนินงานของสมาคมฯ ตั้งเเต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งแนวคิดในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงมุมมองในอนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยหลังจากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ชะลอตัวลง

ในฐานะนายกสมาคมฯ ได้ร่วมผลักดันเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเต็มกำลัง

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการตั้งเเต่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มคนจากภาควิชาการกับภาคเอกชน ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ โดยในช่วงต้นปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ดร.ยศพงษ์ ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และอนุรักษ์พลังงาน ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้ทางรัฐบาล และเป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีนโยบายในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ เเละมองว่า ณ ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะในฐานะนักวิชาการ รู้ปัญหาของประเทศไทย โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีปัญหามลพิษจากการจราจรที่ติดขัด รวมทั้งปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นตัวการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือที่รู้จักกันว่าโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาและความท้าทายระดับโลก การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว

นอกจากนั้น ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก การส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอรี่ภายในประเทศ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ พร้อมด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถไปแข่งขันในระดับโลกได้ในอนาคต โดยหวังว่าประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้น นำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และเป็นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยั่งยืนที่มีความต้องการใช้ยานยนต์สมัยใหม่และสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญในระดับโลกได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวภายหลังนำมาเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินงานของสมาคมฯ ในเวลาต่อมาอย่างต่อเนื่อง

สมาคมฯ ยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการผลักดันโครงการและกิจกรรมในหลายเรื่อง อาทิ การสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้า การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของประเทศการทำงานในเชิงวิชาการในเรื่องมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า หรือหลักสูตรในสถาบันการศึกษา การให้ความรู้แก่ประชาชนการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยควบคู่กัน และได้จัดทำ 8 ข้อเสนอการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าต่อภาครัฐ ในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรม ได้แก่ การจัดทำ EV Roadmap อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนให้มีการจัดทำมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้าเเละชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการออกมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมศักยภาพเเละพัฒนาบุคลากรไทยด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งได้จัดพิมพ์ข้อเสนอเหล่านี้ลง EVAT Directory 2020 อีกด้วย ซึ่งทางสมาคมฯ จะยังคงยึดมั่นเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหามลพิษอย่างฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชนตามที่ทราบกันดีนั้น ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ได้มีการทำงานร่วมกับภาครัฐตามข้อเสนอดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต้องเร่งปรับตัว

ดร.ยศพงษ์ กล่าวว่า ในระยะนี้เศรษฐกิจของประเทศย่อมมีผลกระทบเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และลักษณะของอุตสาหกรรมยานยนต์มีห่วงโซ่อุปทานที่ยาว ย่อมมีผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ซึ่งพอเกิดผลกระทบ การฟื้นตัวอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร

สถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มกราคม-มิถุนายน ปี 2563

อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องการลงทุนในช่วงนี้ ทำให้ผู้ผลิตต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ ที่สามารถตอบโจทย์ได้ในระยะยาว กระเเสยานยนต์ไฟฟ้ากำลังจะกลายเป็นกระเเสหลัก ซึ่งเชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะมุ่งไปทางยานยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยเฉพาะหากภาครัฐสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องโดยใช้งบประมาณหรือทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มุ่งเน้นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน หากมีการชะลอในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมสุดท้ายจะย้อนกลับเป็นปัญหาในระยะยาว

ดังนั้นมองว่า แม้ช่วงนี้จะมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีผลประกอบการตกต่ำ แต่หากมองในภาพใหญ่และในระยะยาว ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นคำตอบอย่างแน่นอนดังนั้นที่เราคิดว่าไกลตัว อาจจะเริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้น เพราะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนเเปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาคเอกชนที่เปลี่ยนเเปลงตัวได้ทันเวลา จะทำให้รอดพ้นวิกฤตและเปลี่ยนเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และมองว่าในช่วงปี ค.ศ. 2025-ค.ศ. 2030 ตลาดของยานยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% และแน่นอนในตลาดแห่งการแข่งขัน ผู้ปรับตัวได้ก่อนจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ และผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ย่อมอาจจะต้องเป็นผู้สูญเสียตลาดนี้ไป ขณะเดียวกันก็จะพบผู้เล่นใหม่ในตลาดเช่นกัน อีกทั้งในอนาคตยานยนต์สมัยใหม่จะไม่ได้มีเเค่เรื่องยานยนต์ไฟฟ้าเเต่จะมีเรื่องการขับขี่อัตโนมัติ การเชื่อมต่อสื่อสารกับภายนอกยานยนต์ เเละเกิดรูปแบบธุรกิจยานยนต์ใหม่ เช่น การเเบ่งปัน (Mobility Sharing) เรื่องนี้เป็นแนวโน้มของยานยนต์สมัยใหม่ ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ทั้งหมด แต่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ต้องพร้อมปรับตัวและก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้

เริ่มบทบาทใหม่ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัย MOVE พร้อมนำ­MOVE ก้าวไปเป็นผู้นำ­ด้านยานยนต์สมัยใหม่

หลังจากอำลาตำแหน่งนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ดร.ยศพงษ์ ได้เริ่มบทบาทใหม่ในฐานะหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือเรียกสั้นๆ ว่า MOVE (มูฟ) โดยมีวิสัยทัศน์นำ MOVE ให้ก้าวเป็นผู้นำด้านยานยนต์สมัยใหม่ที่ยั่งยืน ผ่านการวิจัยนวัตกรรมและการศึกษาและมีพันธกิจการพัฒนาเทคโนโลยีเเละนวัตกรรมด้านยานยนต์สมัยใหม่ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ รวมไปถึงการพัฒนาเเละสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยที่ทันสมัยเพื่อรองรับการวิจัย โดยจะช่วยขับเคลื่อน มจธ. สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเสนอแนวคิด “การขนส่งแบบไร้มลพิษเพื่อก้าวไปสู่การเดินทางที่ยั่งยืน” โดยการใช้มหาวิทยาลัยเป็นสนามทดสอบ (Test Bed) และแหล่งเรียนรู้และวิจัยในวิถีชีวิต (Living Lab) ซึ่งในปัจจุบันศูนย์วิจัยนี้ได้มีการดำเนินงานร่วมเป็นพันธมิตรทั้งกับภาครัฐเเละภาคเอกชนหลายภาคส่วน

ในขณะเดียวกันยังไปช่วยในส่วนของงานบริหารมหาวิทยาลัยด้วย ล่าสุด ดร.ยศพงษ์ เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย มจธ. มีนโยบายพัฒนามหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน โดยเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวและการเป็น Entrepreneurial University และการสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงออกสู่สังคม (Social Change Agent) โดยมหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกกิจกรรม ตั้งแต่การดำเนินงาน การเรียนการสอน การทำวิจัยและนวัตกรรม จนถึงการบริการวิชาการเพื่อชุมชนและผู้ประกอบการ และมี 5 เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน ได้แก่

เป้าหมายที่ 1 ฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำของนักศึกษา
เป้าหมายที่ 2 สร้างผลกระทบจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม
เป้าหมายที่ 3 สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน
เป้าหมายที่ 4 สร้างโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายที่ 5 สร้างสรรค์ระบบการบริหารที่ยั่งยืน

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยเเละผู้บริหารที่จะต้องเดินหน้าเเละสานต่อไปพร้อมกัน

เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าหรือยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สุดท้าย ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การสิ้นสุดตำแหน่งไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดการทำงาน เพราะเรื่องเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าหรือยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่จะมีแนวโน้มของยานยนต์สมัยใหม่ เป็นสิ่งที่ตนทำมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี ก่อนจะเกิดสมาคมฯ หรือมีตำแหน่งใดๆ ดังนั้นยังทำงานในเชิงวิชาการอย่างต่อเนื่องแน่นอนนอกจากนี้ ในฐานะที่ยังทำหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จะช่วยผลักดันให้เกิดการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องได้อีกด้วย

สำหรับการส่งไม้ต่อให้แก่กรรมการชุดใหม่นั้น ดร.ยศพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานของสมาคมฯ เน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกคน ผ่านกระบวนการทำงานในรูปแบบคณะทำงานและผ่านการกลั่นกรองและมติของกรรมการสมาคมฯ มาโดยตลอด ดังนั้นการดำเนินงานของนายกสมาคมหรือกรรมการใหม่ย่อมต้องสานต่อความต้องการของสมาชิกสมาคมฯ และข้อเสนอ 8 ข้อของสมาคมฯ ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของสมาคมฯ นอกจากนี้ การมีคนใหม่ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สมาคมฯ จะได้มีการพัฒนาที่ต่อเนื่องและเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกเข้ามาสานต่อการทำงานของสมาคมฯ และการมีส่วนร่วมในการผลักดันและส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อมาบรรเทาปัญหามลพิษของประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มั่นคงเเละยั่งยืนต่อไป


Source: นิตยสาร Electricity & Industry Magazine ปีที่ 27 ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2563
คอลัมน์ Interview โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save