กรุงเทพฯ : บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชียเผยการบริโภคเหล็กกล้าภายในภูมิภาคเอเชีย ในปัจจุบันรวมกว่า 73.3 % คาดอุปสงค์การบริโภคเหล็กกล้าสำเร็จรูปทั่วโลกในปี 2565 เติบโตสูงกว่า 1.77 พันล้านตัน ผลักดันให้ความต้องการใช้ ลวด เคเบิล ท่อ ท่อร้อยสาย และโลหะ เพิ่มขึ้น พร้อมชี้โอกาสการเติบโตในอุตสาหกรรมลวดและสายเคเบิลเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 6.1% ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า เตรียมจัด 4 งานใหญ่ งานใหญ่ ได้แก่
- International Wire & Cable Trade Fair for Southeast Asia
- International Tube & Pipe Trade Fair for Southeast Asia
- International Foundry Trade Fair and Forum for Southeast Asia (GIFA)
- International Metallurgical Trade Fair and Forum for Southeast Asia (METEC) หรืองานมหกรรมเทคโนโลยีการผลิตลวด เคเบิล ท่อ ท่อร้อยสาย และโลหะในไทย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า จากการศึกษาการเติบโตทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนพบว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นแม่เหล็กที่สำคัญในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ประเทศมีการลงทุนหลายโครงการทั้งโดยภาครัฐ ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน มีการก่อสร้างหรือพัฒนาส่วนต่าง ๆ ให้มีความใหม่ สมบูรณ์แบบและพร้อมใช้ในช่วงที่เริ่มมีการเปิดประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การขนส่ง พื้นที่เพื่อการลงทุนอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้พลังงานสะอาด และรถ EV อีกทั้งยังมีการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก ที่จะร่วมกันยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคให้มีความทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย เล็งเห็นถึงความต้องการใช้ลวด เคเบิล ท่อ และโลหะ พร้อมขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมาย จึงเดินหน้าเตรียมจัด 4 งานใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งจะผนึกพันธมิตรและรวบรวมผู้แสดงสินค้ากว่า 200 รายจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่ต้องการขยายธุรกิจสู่ตลาดเอเชียและอาเซียน มาร่วมแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับกลุ่มภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่กำลังดำเนินงานหรือมีแผนลงทุนเมกะโปรเจกต์ให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ ๆ จากบริษัทชั้นนำทั่วโลก อาทิ ประเทศในสหภาพยุโรป เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดียและญี่ปุ่น
ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวจะช่วยให้ภาคการลงทุนจากต่างประเทศได้เห็นถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ไทยได้วางแผนลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท และสร้างงานใหม่กว่า 154,000 คน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งไทยมีคำมั่นที่จะมีโครงการเชื่อมจีนและลาวในปี 2026 การก่อสร้างรถไฟทางคู่สาย โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ ECC การก่อสร้างมอเตอร์เวย์เพื่อเชื่อมต่อและรองรับการขยายตัวของเมือง การพัฒนาท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม และโครงการอื่น ๆ ที่กำลังแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานทั้งจากไทยและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 6,500 คน
เกอร์นอท กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 7 ของโลก มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และภายในปี 2030 จะมีสัดส่วนความเป็นเมืองที่สูงถึง 45% ส่งผลให้ความต้องการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับลวด เคเบิล ท่อ ท่อร้อยสาย อุตสาหกรรมหล่อโลหะ เติบโตตามไปด้วย โดยมูลค่าตลาดรวมของลวดและสายเคเบิลในประเทศไทยในปัจจุบันมีจำนวนรวมกว่า 55,000 ล้านบาท การเข้ามาของเทคโนโลยี 5 G ทำให้มีการใช้ขดลวดค่อนข้างมาก คาดการณ์ว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ 6.1% ภายในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นปัจจัยสำคัญ คือ การลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อการพัฒนาระบบระบายน้ำ และระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าของตลาดท่อในระดับอาเซียนจะสามารถเติบโตสูงถึง 24,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2028
สำหรับไทยมีการใช้ลวด ท่อ สายเคเบิลและโลหะในอุตสาหกรรม 5 Sector สำคัญ ได้แก่ ก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและบรรจุภัณฑ์
ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ในปี 2021 ไทยเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ที่เติบโตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยสัดส่วน 18% ในปี 2022 ไทยผลิตรถยนต์ตามเป้าหมาย 1.8 ล้านคัน และส่งออก 1 ล้านคัน ทั้งนี้ ภายในสิ้นปี 2022 Mercedes จะเปิดตัว EQS พร้อมจัดตั้งไลน์การผลิตในไทย เพื่อให้ไทยเป็น Hub รถ EV และไทยยังถือเป็น 1ใน 7 ประเทศที่ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชาร์จ 1ครั้ง วิ่งได้ 700 กม.
“ที่ผ่านมางาน Wire and Tube Southeast Asia มีสัดส่วนของผู้เข้าร่วมงานในระดับนานาชาติที่สูงมาก ส่วนงาน GIFA และ METEC Southeast Asia จะเพิ่มการให้บริการห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมหล่อโลหะและโลหะการที่ครอบคลุมและกว้างขวางมากขึ้น โดยนำผู้ผลิตระดับโลกสู่เวทีธุรกิจหนึ่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งการจัดงานดังกล่าวจะเป็นการรวมตัวผู้นำด้านการผลิต และผู้ให้บริการที่จะร่วมกันนำเสนอแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมโลหะทั้งในการลดต้นทุน การลดการนำเข้า กรรมวิธีในการผลิตรวมถึงการผลักดันการใช้โลหะที่มีคุณภาพสูงภายในภูมิภาคเพื่อลดการนำเข้าจากภายนอก นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการแบ่งปันแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์โลหะคุณภาพสูง ให้สอดรับกับอุตสาหกรรมปลายทางอื่น ๆ เช่น ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อหลีกหนีจากการแข่งขันรูปแบบเดิมดังเช่นในอดีต” เกอร์นอท กล่าว
ด้าน พีระเดช ตรงกิจไพศาล นายกสมาคมอุตสาหกรรมหล่อโลหะไทย กล่าวว่าปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นและจีนเริ่มกลับมาลงทุนด้านอุตสาหกรรมหล่อโลหะในประเทศแถบกลุ่มเอเชียตะวันออกและประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนของบ้านเรามีโอกาสเติบโตเพิ่มมากขึ้น แม้อุตสาหกรรมหล่อโลหะเป็นธุรกิจที่มีมาช้านาน แต่ปัจจุบันยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากนักธุรกิจรุ่นใหม่เพราะงานหล่อถือเป็นงานศิลปะ โดยมีทฤษฎี 5M เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ Money คือการมีแหล่งเงินทุนที่เอื้อต่อการใช้งาน Machinery คือการเสาะหาและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรให้ทันสมัยอยู่เสมอ Material คือการทำชิ้นส่วนประกอบ Management คือระบบการบริหารจัดการต้องมีการเปลี่ยนและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และ Man คือกำลังคน
สำหรับการจัดมหกรรมเทคโนโลยีการผลิตลวด เคเบิล ท่อ ท่อร้อยสาย อุตสาหกรรมหล่อโลหะ และโลหะการทั้ง 4 งาน จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึงจะจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่จากบริษัทชั้นนำทั่วโลก พร้อมด้วยเวทีเสวนาอีกมากมาย สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.gifa-southeastasia.com, www.metec-southeastasia.com, www.tube-southeastasia.com และ www.wire-southeastasia.com