ปัจจุบันมีปลั๊กไฟพ่วงออกมาให้ใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถนำมาต่อใช้กับกับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย แต่การใช้ปลั๊กพ่วงนั้น ก็มีข้อจำกัด และข้อควรระวังหลายอย่าง ที่ต้องรู้ไว้ เพื่อไม่ให้เกิด การใช้อย่างผิดวิธี และนำมาซึ่งอันตรายต่อผู้ใช้
ข้อควรรู้ในการใช้ปลั๊กพ่วง
- ปลั๊กพ่วง ถูกออกแบบมาให้ใช้เพียงชั่วคราว ไม่ใช่ใช้ถาวร ฉะนั้นไม่ควรนำมาติดตั้งใช้แบบถาวร เพราะจะทำให้ชำรุดได้ง่าย และเสื่อมสภาพ
- ห้ามเอาปลั๊กพ่วงที่ชำรุดมาใช้งานอย่างเด็ดขาด เช่น ฉนวนหุ้มสายไฟแตก สายไฟมีรอยซ่อมแซมหรือพันด้วยเทป เต้ารับและเต้าเสียบมีรอยไหม้ เพราะเสี่ยงเกิดไฟฟ้าลัดวงจร อาจถึงขั้นไฟไหม้ได้เลย
- ไม่ใช้ปลั๊กพ่วงกับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าตลอดเวลา เช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำเย็น เป็นต้น
- ควรปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนเสียบปลั๊กพ่วง
- ถอดปลั๊กไฟหลังใช้งานทุกครั้ง ไม่เสียบคาทิ้งไว้ เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
- ไม่ใช้รางปลั๊กพ่วงต่อพ่วงกันหลายชั้น เพราะอาจทำให้สายไฟเกิดความ ร้อนสูง และเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้
ใช้ปลั๊กพ่วงแล้วไฟตัด…เป็นเพราะอะไร?
หลายคนคงเคยเจอปัญหา เมื่อเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างแล้วไฟตัด หรือเหมือนมีการช๊อตของไฟ จึงคิดว่าปลั๊กพ่วงนั้นเสีย แต่สาเหตุที่จริงแล้ว เป็นเพราะกำลังไฟฟ้าเกินกว่าที่ปลั๊กพ่วงจะรองรับต่างหาก ดังนั้นเราจึงควรเลือกปลั๊กพ่วงที่เหมาะสมกับเครื่อวใช้ไฟฟ้าที่เราจะใช้งาน ซึ่งในปลั๊กพ่วงจะมีการระบุจำนวนวัตต์ที่รองรับได้ และแต่ละเครื่องใช้ไฟฟ้าเองก็มีการใช้กำลังไฟต่างกันไปดังนี้
- ไดร์เป่าผม 100-1,000 วัตต์
- เตาไมโครเวฟ 100-1,000 วัตต์
- โทรทัศน์สี 80-180 วัตต์
- เครื่องชงกาแฟ 200-600 วัตต์
- เตารีดไฟฟ้า 700-2,000 วัตต์
- เครื่องปิ้งขนมปัง 800-1,000 วัตต์
- หม้อหุงข้าว 450-1,500 วัตต์
- เครื่องดูดฝุ่น 750-1,200 วัตต์
- ตู้เย็น 70-145 วัตต์
- เครื่องซักผ้าแบบมีเครื่องอบ 3,000 วัตต์
(*ข้อมูลจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)
เพื่อพอจะทราบกำลังไฟแล้ว ทีนี้ก็ต้องมาคำนวณดูว่า การที่เราจะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิด หรือใช้พร้อมกัน โดยเสียบที่ปลั๊กพ่วงอันเดียวกันนั้น กำลังไฟจะเกินที่ปลั๊กพ่วงรับได้หรือเปล่าครับ
นอกจากนี้ ก็จะเป็นเรื่องของการเลือกซื้อปลั๊กพ่วงที่ได้คุณภาพ ควรดูตามหลักคร่าวๆ ดังนี้
- มีสัญลักษณ์ มอก.ปลั๊กพ่วงชัดเจน
- พลาสติกคุณภาพสูงไม่ลามไฟ
- มี 3 ขาใส่กราวนด์กันไฟดูด
- ขั้วสัมผัส L, N ข้างในเป็นทองแดง
- มีเบรกเกอร์ (Breaker) ในตัว
เพียงแค่เราใส่ใจ และหาความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน ก็จะทำให้ช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากไฟฟ้าได้มากทีเดียวครับ
บทความ โดย กรีน พญาไท
ขอบคุณ แหล่งอ้างอิง