เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ลดต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเทียบเท่า 6,000 ล้านบาท มุ่งช่วยเหลือประชาชน มั่นใจไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่มกราคม – เมษายน 2566) และขอความร่วมมือ ปตท. สนับสนุนรายได้จากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ นั้น
ปตท. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์วิกฤตพลังงานที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ได้เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยจัดสรรก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งพยายามจัดหา LNG ที่มีราคาเหมาะสม มุ่งลดต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่า 6,000 ล้านบาท พร้อมมั่นใจไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะทำได้เนื่องจากคาดการณ์ว่าความต้องการปิโตรเคมีช่วงต้นปี 2566 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติส่งผลให้สามารถจัดส่งก๊าซธรรมชาติในส่วนนี้เพิ่มเติมให้กับภาคไฟฟ้าได้
ที่ผ่านมา ปตท. ได้บริหารจัดการด้านพลังงานเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุดโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมงบประมาณการช่วยเหลือตลอดโครงการกว่า 1,223 ล้านบาท ได้แก่ การขยายระยะเวลาตรึงราคาขายปลีก NGV สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2566 และการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม (LPG) ให้แก่กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารที่เป็นผู้มีรายได้น้อยตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566
ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ ยึดมั่นหลักธรรมภิบาล พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง