ปตท.สผ. เผยผลการดำเนินงานปี 2565 เติบโตตามแผน โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 468,130 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโครงการในต่างประเทศ และการเข้าเป็นผู้ดำเนินการและเริ่มผลิตปิโตรเลียมในโครงการจี 1/61 ปตท.สผ. ยังสามารถลดก๊าซเรือนกระจกสะสมได้กว่า 3 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมทั้ง สามารถนำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจให้กับรัฐประมาณ 62,000 ล้านบาทเพื่อการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลที่ 9.25 บาทต่อหุ้น ส่วนแผนงานหลักในปี 2566 จะเร่งเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อต้นทุนทางพลังงานให้กับประชาชน
มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทของปี 2565 ว่า ปตท.สผ. ได้ดำเนินแผนงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ โดยในปี 2565 บริษัทสามารถลดก๊าซเรือนกระจกสะสมได้กว่า 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากปีฐาน 2555 รวมทั้ง กำลังพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ที่โครงการอาทิตย์ ซึ่งขณะนี้ ได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) แล้ว และอยู่ระหว่างการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) ซึ่งคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ได้ปลายปี 2566 นี้ โดยมีแผนจะเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS เป็นครั้งแรกในประเทศไทยได้ในปี 2569 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ประมาณ 700,000 – 1,000,000 ล้านตันต่อปี ในขณะเดียวกัน บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ CCS ในบริเวณพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย รวมทั้ง ในประเทศที่ ปตท.สผ. มีพื้นที่ปฏิบัติการด้วย เช่น ประเทศมาเลเซีย
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมุ่งมั่นในการนำก๊าซเผาทิ้งจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่ ควบคู่ไปกับการนำพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดมาใช้ในพื้นที่ปฏิบัติการมากขึ้น อาทิ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 และฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม ปตท.สผ. ที่จังหวัดสงขลา และกังหันลมที่โครงการอาทิตย์ เป็นต้น รวมถึง ดำเนินโครงการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปลูกป่าทั้งป่าบกและป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2565 เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) ที่ 28.36 ดอลลาร์ และมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย (Sales volumes) 468,130 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จาก 416,141 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการผลิตปิโตรเลียมของโครงการในต่างประเทศ เช่น โครงการโอมานแปลง 61 และโครงการมาเลเซีย แปลงเอช รวมทั้ง โครงการในประเทศ ได้แก่ โครงการจี 1/61 ด้วย ในขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่งผลให้ในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 9,660 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 339,902 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 จากปี 2564 ซึ่งมีรายได้รวม 7,314 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 234,631 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 1,999 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 70,901 ล้านบาท) โดยในปี 2565 ปตท.สผ. สามารถนำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ประมาณ 62,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา
อนุมัติจ่ายปันผล 9.25 บาทต่อหุ้น จากผลประกอบการดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ได้อนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2565 ที่ 9.25 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้จ่ายสำหรับงวด 6 เดือนแรกไปแล้วในอัตรา 4.25 บาทต่อหุ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ส่วนที่เหลืออีก 5 บาทต่อหุ้น จะกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 และจะจ่ายในวันที่ 24 เมษายน 2566 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2566 แล้ว
งบประมาณสำหรับแผนการดำเนินงาน สำหรับปี 2566 บริษัทได้ตั้งงบประมาณการลงทุน จำนวน 5,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สรอ. (เทียบเท่า 191,818 ล้านบาท) เพื่อรองรับแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ได้แก่ การเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการจี 1/61 โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการเอส 1 และโครงการผลิตในประเทศมาเลเซีย การเร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค 410 บี และโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 รวมถึง การเร่งการสำรวจในโครงการต่าง ๆ ในประเทศไทย มาเลเซีย และโอมาน นอกจากนี้ ยังได้สำรองงบประมาณ จำนวน 4,800 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 166,052 ล้านบาท) สำหรับช่วง 5 ปี (2566 – 2570) เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดยขณะนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาธุรกิจใหม่ต่าง ๆ เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจ CCS ธุรกิจการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) ธุรกิจไฮโดรเจนสะอาด รวมทั้ง การต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์
“ปตท.สผ. กำลังเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 ซึ่งในปีที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้เสร็จสิ้นการติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead platform) จำนวน 8 แท่นเป็นที่เรียบร้อย และในปีนี้ จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มอีก 4 แท่น วางท่อใต้ทะเล และเตรียมแท่นขุดเจาะ (Rig) 6 แท่น เพื่อเร่งเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมอีก 273 หลุม ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปีนี้ และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี โดยคาดว่าในเดือนเมษายน 2567 อัตราการผลิตก๊าซฯ จะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะเดียวกัน ปตท.สผ. ได้เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ จากทุกโครงการของ ปตท.สผ. ในอ่าวไทย ได้แก่ โครงการบงกช โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนทางพลังงานให้กับประชาชน” มนตรี กล่าว
มนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปตท.สผ. กำลังมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจพลังงานเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ เช่น การลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน พลังงานรูปแบบใหม่ และนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยได้จัดตั้งบริษัทย่อยต่าง ๆ เพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว เช่น บริษัท เอ็กซ์พลอร์ เวนเจอร์ส (Xplor Ventures) ในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ (Startup) ที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ