Power Purchase Agreement : PPA โมเดลพลังงาน


เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต (ตำแหน่งปัจจุบัน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศถึงเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนของการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้นนั่นเป็นที่มาของการอนุญาตให้เอกชนเข้ามาติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาตึก 5 ตึกในวิทยาเขตรังสิต เพื่อแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้าขนาด 5 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 10 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2561 นี้ ทั้งนี้ธรรมศาสตร์ไม่ต้องลงทุนในแผงโซลาร์หรือระบบจัดการใดๆ เพียงแค่อนุญาตให้ติดตั้งและจ่ายค่าไฟฟ้าตามพลังงานแสงอาทิตย์ในสัดส่วนที่ใช้จริงเท่านั้น

 

Power Purchase Agreement : PPA โมเดลพลังงาน

โมเดลที่ธรรมศาสตร์เลือกใช้นี้เป็นโมเดลพลังงานที่พบเห็นได้ทั่วไปในอเมริกาและยุโรป แต่อาจยังไม่เป็นที่คุ้นเคยกับคนไทยนัก…

โมเดลพลังงานนี้มีชื่อว่า PPA หรือ Power Purchase Agreement (ข้อตกลงการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์) ซึ่งเป็นโมเดลพลังงานที่เอื้อให้องค์กร หน่วยงานธุรกิจ หรือแม้กระทั่งครัวเรือนและปัจเจก ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ได้ง่าย สะดวก โดยไม่ต้องลงทุนเอง

ถือเป็นโมเดลที่เพิ่มอำนาจให้กับผู้ที่อยากมีส่วนร่วมกับการผลิตพลังงานสะอาดเป็นอย่างยิ่ง!…

PPA คืออะไร

PPA มาจาก Power Purchase Agreement คือ ข้อตกลงการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้จาก Solar Rooftop ซึ่งเป็นแผงโซลาร์ที่ติดตั้งบนหลังคา ทั้งนี้ PPA ถือเป็นโมเดลพลังงานแบบใหม่ที่เพิ่มอำนาจให้กับครัวเรือน องค์กร และภาคธุรกิจที่ต้องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้เอง แต่ไม่ต้องการลงทุนหรือต้องการลงทุนแต่เพียงเล็กน้อย โดยโมเดล PPA นี้ บริษัทซึ่งจำหน่ายแผงและระบบโซลาร์จะเป็นผู้ลงทุนในอุปกรณ์ การติดตั้งรวมถึงดูแลและซ่อมแซมระบบ ครัวเรือน องค์กร และภาคธุรกิจเพียงแค่จ่ายค่าไฟฟ้า (ที่ผลิตจากแผงโซลาร์) รายเดือนตามระยะสัญญาเท่านั้น โดยอัตราไฟฟ้าจะคิดตามหน่วยที่ใช้ในอัตราต่อหน่วยเทียบเท่าหรือต่ำกว่าการไฟฟ้า โดยคิดแบบอัตราคงที่ (Flat Rate) ทำให้ในระยะยาวค่าไฟฟ้าจากโมเดล PPA ที่จ่ายจะถูกกว่าการจ่ายค่าไฟให้รัฐ โดยที่มั่นใจได้ว่าอำนาจในการผลิตไฟฟ้าที่ใช้งานยังเป็นของตัวเอง แถมพลังงานนั้นยังสะอาด และดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ที่มา :Solar Power Purchase Agreement – https://www.epa.gov/greenpower/solar-power-purchase-agreements และ Solar City YouTube Channel – https://www.youtube.com/watch?v=6AuKCvfQfx0

แผงโซลาเซล์

แล้วทำไมเราต้องสนใจ PPA

นอกเหนือจากการเป็นโมเดลที่เอื้อให้คุณใช้พลังงานจากแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านได้โดยที่คุณไม่ต้องควักเงินลงทุนเองแล้ว PPA ยังถือเป็นโมเดลพลังงานที่เพิ่มอำนาจให้ประชาชน โดยประชาชนสามารถเลือกได้ว่าจะผลิตไฟฟ้าจากหลังคาใช้เองหรือไม่หรือจะพึ่งพาไฟจากระบบพลังงานแบบเก่าที่มีรัฐเป็นผู้ขายรายเดียวหรือจะผสมผสานสองทางเลือกนี้เข้าด้วยกัน

ชีวิตที่มีทางเลือกมากขึ้น คือคำตอบที่ว่า ทำไมเราควรต้องสนใจโมเดลพลังงานใหม่อย่าง PPA นั่นเอง

โฉมหน้าของโมเดลพลังงานแบบเก่า

คุณเคยสังเกตไหมว่า ทุกวันนี้พลังงานไฟฟ้าที่เราใช้ชาร์จแบตมือถือ ใช้เปิดไฟในครัวเรือน หรือใช้เป็นแหล่งพลังงานของห้างร้าน นั้นมาจากไหน แน่นอนว่าไฟฟ้ามาจากสายส่งไฟ แต่คำถามต่อมาคือ ใครคือผู้ผลิต ใครคือผู้กระจาย และใครคือผู้ขายไฟให้กับเรา

โมเดลพลังงานแบบเดิม ซึ่งถือเป็นโมเดลที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันด้วยนี้ เป็นโมเดลที่รัฐเป็นผู้ผลิตหลัก รัฐเป็นเจ้าของและผู้ควบคุมสายส่งและยังยังเป็นผู้มีสิทธิ์ขายไฟฟ้าแต่เพียงผู้เดียว

ในแง่การผลิตไฟฟ้านั้น เดิมทีรัฐเป็นผู้ผลิตรายเดียว แต่เมื่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง รัฐก็อนุญาตให้มีผู้ผลิตรายอื่นเข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้าได้ แต่ในแง่การกระจายและการขายไฟให้แก่ประชาชน รัฐยังเป็นผู้ควบคุมและผูกขาดหนึ่งเดียวอยู่ นั่นหมายความว่า ถ้าเราจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจากสายส่ง ทางเลือกก่อนหน้านี้ของประชาชนคือ เราต้องซื้อจากรัฐเท่านั้น

แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้า และเกิดโมเดลพลังงานแบบใหม่ขึ้น ที่เอื้อให้เราเป็นเจ้าของแผงโซลาร์ได้ในต้นทุนที่ต่ำมาก ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้บ้านเรือน องค์กร หรือภาคธุรกิจสามารถใช้แผงโซลาร์แปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้เอง โดยไม่จำเป็นต้องรอพึ่งพาไฟฟ้าจากสายส่งแต่เพียงอย่างเดียว นั่นเท่ากับว่าทางเลือกได้เปิดกว้างมากกว่าหนึ่งทางแล้ว

และทางเลือกที่เพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนอย่างเราๆ จะได้รับเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ทางเลือกอื่น นอกเหนือจาก PPA

โมเดลการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ไม่ได้มีโมเดลแค่เพียง PPA หรือข้อตกลงซื้อขายพลังงานเท่านั้น หากประชาชนคนไทยยังมีทางเลือกอื่นด้วย ทางเลือกอื่นๆ นั้นได้แก่ การซื้อเงินสด (ซึ่งใช้เงินลงทุนสูง) และการผ่อนสินเชื่อ หรือที่เรียกว่า Solar Loan

โมเดลพลังงาน PPA

สำหรับโมเดลการซื้อขาด (Buy) เป็นโมเดลที่เราน่าจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่โมเดลนี้มีข้อจำกัดตรงที่ว่า ต้องจ่ายเงินงวดเดียวในจำนวนที่สูงมาก อีกทั้งบริษัทส่วนใหญ่จะไม่มีบริการติดตั้งและซ่อมบำรุง (ยกเว้นบางบริษัทที่มีบริการนี้แถมให้) ทำให้โมเดลการซื้อขาดจึงไม่ได้รับความนิยม

โมเดลพลังงาน PPAขณะที่อีกโมเดล คือ การผ่อนสินเชื่อ หรือ Solar Loan ถือเป็นโมเดลที่ครัวเรือน องค์กร หรือภาคธุรกิจ จะทำการกู้สินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน แล้วนำมาซื้อแผงโซลาร์และระบบติดตั้งโดยสินเชื่อที่กู้มานั้น ลูกค้าต้องผ่อนชำระและเสียดอกเบี้ยตามระยะสัญญา แต่ระหว่างนั้นก็สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ได้ฟรี เพราะถือว่าลูกค้าเป็นเจ้าของอุปกรณ์แล้ว

ขณะที่โมเดลแบบ PPA แม้ลูกค้าจะไม่ได้ลงทุนค่าแผงและระบบโซลาร์เอง แต่ต้องจ่ายค่าพลังงานไฟฟ้าตามอัตราที่ใช้จริงใหก้ บั บรษิ ทั โซลาร์ ซึ่งมักจะมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับราคาพลังงานที่เราต้องจ่ายให้กับการไฟฟ้าของภาครัฐ ทั้งนี้สัญญาการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากโมเดล PPA นี้ มักจะมีระยะเวลาประมาณ 20 ปีขึ้นไป

ปัจจุบัน โมเดลพลังงานทั้งแบบซื้อ (Buy) ผ่อนสินเชื่อ (Solar Loan) และ PPA ล้วนมีให้บริการในไทย โดยถ้าวัดจากความนิยมอาจต้องบอกว่า โมเดล PPA ได้รับความนิยมมากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้ง 3 โมเดลก็ล้วนมอบทางเลือกให้ครัวเรือน องค์กร และภาคธุรกิจสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้เองได้ … โดยลดการพึ่งพิงการใช้ไฟฟ้าจากรัฐลง

พลังงานแสงอาทิตย์ : “ทางเลือก” ของประชาชน และ “โอกาสใหม” สำหรับความมั่นคงทางพลังงานของรัฐ

เมื่อเปรียบเทียบโมเดลการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์กับโมเดลพลังงานไฟฟ้าแบบเก่า ที่เราต้องซื้อไฟฟ้าจากรัฐ อาจให้ความรู้สึกว่า การผลิตไฟจากแผงโซลาร์และโมเดลพลังงานแบบเก่าเป็นคู่แข่งกัน แต่จริงๆ แล้ว หากประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ใช้เองได้มากขึ้น ย่อมสร้างให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานแก่รัฐเพิ่มขึ้นได้

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ความคิดนี้ ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจไว้ดังนี้

“ปัจจุบัน ประเทศเรามีปริมาณไฟฟ้าสำรองอยู่ 33% แล้วปริมาณไฟฟ้าสำรองนี้คิดจากอะไรบ้างล่ะครับ ก็คิดจากว่าปีที่แล้วประเทศใช้ไฟฟ้าสูงสุดเท่าไหร่ แล้วภาครัฐก็จะต้องหาทางผลิตให้ได้มากกว่านั้น ซึ่งส่วนที่เกินมาคือ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ แต่ทีนี้ การเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศ ไม่ได้มีทางเลือกแค่ว่าต้องผลิตเพิ่มเท่านั้น เพราะเรา
ผลิตได้ 33% ก็มากแล้ว วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ ลดการใช้ไฟฟ้าลงมาถ้าลดได้ ถึงภาครัฐจะผลิตเท่าเดิมแต่เราก็จะได้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเพิ่มขึ้น”

“วิธีการลดการใช้ไฟฟ้าลงมา ก็อย่างที่ธรรมศาสตร์กำลังทำอยู่นี่แหละครับ คือการหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง ถ้าหน่วยงานของรัฐเทศบาล โรงเรียน หรือแม้กระทั่งครัวเรือนไทย หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น ปริมาณการใช้ไฟฟ้า (จากสายส่งของภาครัฐ) ก็จะลดลงยอดพีคก็จะลดลง ปริมาณไฟฟ้าสำรองก็เพิ่มขึ้นอัตโนมัติ ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศก็เพิ่มขึ้น”

“ข้อเสนอนี้ถือเป็นขั้นต่ำเลย รัฐส่งเสริมหรือเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปผลิตไฟฟ้าเองได้ไหม แทนที่ภาครัฐจะกังวลว่าจะผลิตพลังงานสำรองไม่เพียงพอ แล้วต้องไปหาทางขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หรือหาทางเลือกอื่นอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งตัวเลือกเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดความไม่สบายใจแก่ประชาชน ทำให้รัฐต้องทะเลาะกับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ อีก ดังนั้น หากรัฐส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าได้เอง โดยอาจจะออกมาตรการที่ให้ธนาคารของรัฐเสนอสนิ เชื่อราคาถูกเพื่อให้ประชาชนติดตั้งแผงโซลาร์อย่างนี้น่าจะดีกว่าไฟม เพราะเป็นพลังงานสะอาด ประชาชนก็มีส่วนร่วมในการผลิตความมั่นคงทางพลังงานของประเทศก็เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือนิวเคลียร์เพิ่ม”

อำนาจการผลิตไฟฟ้าเอง : เริ่มต้นที่ก้าวเล็กๆ ก่อนขยายไปก้าวที่ใหญ่ขึ้น

สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โซลาร์ ดี (Solar D) คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด
สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์

สำหรับ สัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โซลาร์ ดี (Solar D) คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ผู้ให้จำหน่ายและติดตั้งโซลาร์เซลล์ครบวงจร ซึ่งเชื่อว่าการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นนั้น เกี่ยวพันกับอำนาจสิทธิ และระดับประชาธิปไตยในสังคมไทย เขามีมุมมองว่า การที่ประชาชนสามารถมีอำนาจในการผลิตไฟฟ้าได้เอง นั่นถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่น่าสนใจ ยิ่งประกอบกับเทคโนโลยีที่เจริญรุดหน้าขึ้นทุกวัน ก้าวเล็กๆ นั่นอาจขยายไปสู่ก้าวใหญ่ได้ในไม่ช้า

“PPA เป็นโมเดลที่น่าสนใจเพราะช่วยให้ประชาชนสามารถติดตั้งแผงโซลาร์ได้โดยแทบไม่ต้องควักกระเป๋าสตางค์เลย เพียงแต่ว่าในปัจจุบันบริษัทผู้จำหน่ายและติดตั้งระบบโซลาร์จะเน้นเสนอขายโมเดล PPA ให้แก่กลุ่มธุรกิจ เช่น โรงงาน บริษัท เป็นหลัก โดยยังไม่เปิดตลาดในส่วนครัวเรือนแต่อย่างใด แต่ครัวเรือนที่สนใจอยากติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าเอง ก็สามารถทำได้ผ่านการซื้อขาดหรือกู้สินเชื่อ (Solar Loan) ซึ่งทางบริษัท โซลาร์ ดี (Solar D) ของเราก็มีบริการตรงนี้อยู่”

“การที่ประชาชนไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือน หรือภาคธุรกิจ สามารถเข้าถึงแผงโซลาร์ที่ราคาถูกลง และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยตนเองได้ ผมถือว่าเป็นก้าวเล็กๆ แห่งความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ เพราะนั่นสะท้อนให้เห็นถึงการมีทางเลือกในด้านพลังงานของประชาชน จริงอยู่ ถึงแม้ว่ากฎระเบียบหลายอย่างของไทยในตอนนี้จะยังไม่เปิดกว้างถึงขั้นที่ลุกขึ้นมาอนุญาตให้ประชาชนผลิตและขายไฟคืนให้แก่รัฐโดยตรงได้เหมือนโมเดล Net Metering ในอเมริกา แต่ต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เปิดทางเลือกใหม่ๆ ให้กับประชาชนระดับครัวเรือนไม่น้อยโดยเฉพาะเทคโนโลยีแบตเตอรี่ หรือ Storage ที่ช่วยให้ครัวเรือนกักเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ยามกลางคืนหรรือยามที่การได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับเครือข่ายสายส่งตลอดเวลา”

“อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าโครงข่ายสายส่งยังมีความสำคัญอยู่อย่างแน่นอน แต่การที่ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น สามารถเลือกได้ว่าจะผลิตไฟฟ้าเองจากพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวันและกักเก็บไฟสำรองในแบตเตอรีเพื่อใช้ยามกลางคืน หรือจะหันไปใช้ไฟฟ้าจากสายส่งของภาครัฐ อย่างน้อยการมีสิทธิเลือกนี้ก็ถือเป็นก้าวแรกๆ ที่น่าสนใจ เพราะสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มในการจัดการตนเองของประชาชน ลดการรวมศูนย์ทางพลังงานของประเทศลง รวมถึงเผยให้เห็นอำนาจที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชนที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมกับการผลิตพลังงานด้วย ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้นหรือไม่” สัมฤทธิ์ กล่าวปิดท้าย

PPA แผงโซลาร์ และการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เอง จึงเป็นมากกว่าเรื่องของพลังงานสะอาดและความคุ้มทุนทางการเงินด้วยประการฉะนี้ เพราะนี่คือโมเดลที่เสนอทางเลือก และเพิ่มอำนาจให้กับผู้ที่อยากมีส่วนร่วมกับการผลิตพลังงานสะอาด เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของตนเองและของประเทศอย่างแท้จริง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save