การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ห่วงใยสุขภาพประชาชน แนะติดตามค่าฝุ่นผ่านแอปพลิเคชัน Sensor for All พร้อมร่วมมือกับจังหวัดลำปางตั้งศูนย์บัญชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาช่องทางรับซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อลดการเผาอย่างยั่งยืน และเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมหอฟอกอากาศสำหรับชุมชน ต้นไม้ฟอกอากาศ (City Tree) ช่วยลดฝุ่น
ชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง กฟผ. เป็นห่วงสุขภาพประชาชน แนะให้ติดตามคุณภาพอากาศแบบ Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชัน Sensor for All ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลจากเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองที่ติดตั้งบริเวณโรงไฟฟ้า โรงงานขนาดใหญ่ สี่แยกไฟแดงที่มีการจราจรหนาแน่น สถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัดกว่า 1,250 จุด ทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าระวังและวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ และขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยดักจับฝุ่นโดยธรรมชาติรอบบ้านหรือในชุมชนเพิ่มเติม
สำหรับแผนเชิงรุกที่สำคัญ กฟผ. ได้ร่วมกับจังหวัดลำปางตั้งศูนย์บัญชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอำเภอแม่เมาะ พร้อมพัฒนาช่องทาง “ไม่เผา เราซื้อ” ในแอปพลิเคชัน “Fire D” (ไฟดี) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลในการรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ เปลือกและซังข้าวโพด เศษไผ่จากชุมชนในอำเภอแม่เมาะ สำหรับนำไปผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Biomass Pellet) เพื่อเผาร่วมกับถ่านหินในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน ลดการเผาและปัญหาไฟป่าซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันอย่างยั่งยืน รวมถึงร่วมกับจิตอาสาในพื้นที่รอบเขื่อนและโรงไฟฟ้าทำแนวป้องกันไฟป่าและร่วมปฏิบัติภารกิจดับไฟป่ารอบพื้นที่ อาทิ กฟผ.แม่เมาะ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ กฟผ. ยังพัฒนานวัตกรรมหอฟอกอากาศสำหรับชุมชนด้วยเทคนิคการกำเนิดพลาสมา ทำให้อากาศแตกตัวเป็นประจุไฟฟ้า (Pre-charge) ไปดักจับอนุภาคฝุ่น PM2.5 ช่วยฟอกอากาศบริสุทธิ์ได้ในอัตราสูงสุด 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ครอบคลุมรัศมี 250 เมตร รอบหอฟอกอากาศ ควบคู่กับการนำนวัตกรรมต้นไม้ฟอกอากาศ (City Tree) ซึ่งผสมผสานระหว่างเครื่องฟอกอากาศประจุลบดักจับฝุ่น PM2.5 และฆ่าเชื้อโรค ร่วมกับสวนแนวตั้งต้นไม้ฟอกอากาศ เพื่อช่วยบำบัดอากาศครอบคลุมพื้นที่ 200 ตารางเมตร โดยนำร่องติดตั้งในโรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลบางกรวย และโรงพยาบาลสะเมิง รวมถึงผสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือพัฒนาต้นแบบเตาเผาศพอัจฉริยะประสิทธิภาพสูงที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงกว่า 30% และลดเขม่าควันที่เป็นมลภาวะทางอากาศอีกทางหนึ่งด้วย