กระทรวงพลังงานเปิดอาคารใหม่ Net zero energy building ใหญ่ที่สุดในไทย


พีระพันธุ์ ปลื้ม เปิดอาคารใหม่ Net zero energy building ใหญ่ที่สุดในไทย ตั้งเคียงบ้านพิบูลธรรม เปิดตัวอาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ “Net Zero Energy Building”หรือ อาคาร 70 ปี พพ. ทุ่มงบ 81.6 ล้านบาท เน้นออกแบบให้ประหยัดพลังงานและนำพลังงานทดแทนมาใช้ ภายใต้แนวคิด“ลดพลังงาน เสริมคุณภาพชีวิต” พร้อมชูเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบอาคารสำนักงานที่มีการใช้พลังงานต่ำหรือเป็นศูนย์ วางเป้าปี 2579 ประเทศไทยจะมีอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์มากกว่า 2,000 อาคาร

 

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ “Net Zero Energy Building” (อาคาร 70 ปี พพ. ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการสร้างอาคารใหม่ ๆ ของไทยได้นำแนวคิดด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน โดยการทำให้การใช้พลังงานสุทธิเท่ากับศูนย์ (Net Zero Energy Building: NZEB) เริ่มถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอาคารและที่อยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาอาคารที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลงให้ได้ 45% ในปี พ.ศ. 2573 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 ในขณะที่ประเทศไทยในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้มีการประกาศแผนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ถึง 25% ภายในปี พ.ศ. 2573 ทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทยได้มีการประกาศแผนการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ในแผนธุรกิจและแผนการบริหารจัดการองค์กรมากขึ้น

พีระพันธุ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้เห็นความสำคัญที่จะต้องวางแผนและเริ่มการศึกษา ออกแบบ และก่อสร้างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) ซึ่งมีการดำเนินการในต่างประเทศอย่างแพร่หลาย แต่ในประเทศยังไม่มีตัวอย่างที่สมบูรณ์ให้ศึกษาเรียนรู้ โดยในปี 2562 พพ. ได้เริ่มศึกษาและได้จัดสรรงบประมาณกว่า 81,600,000 บาท เพื่อสร้าง อาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ “Net Zero Energy Building” หรือ อาคาร 70 ปี พพ. แห่งนี้ โดยมีการออกแบบภายใต้หลักการการอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดการใช้พลังงานนอาคารผ่านการออกแบบที่ใช้ประโยชน์จากสภาวะแวดล้อม และการใช้วัสดุอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง พร้อมการใช้พลังงานทดแทนจากระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้เกิด อาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building : NZEB) ตลอดจนมีการออกแบบตามมาตรฐานอาคารเขียวภาครัฐ G–GOODs ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2562 เพื่อให้การก่อสร้างอาคารมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นโครงการที่เข้ารับการประเมินการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวไทย (TREES-NC) ให้การรับรองโดยสถาบันอาคารเขียวไทย ระดับ Platinum และยังเป็นอาคารสำนักงาน Zero Energy Building ที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกด้วย

ด้าน โสภณ มณีโชติ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า เนื่องจาก พพ. มีอาคารสำนักงานที่ใช้งานมานานมากกว่า 50 ปี สภาพทรุดโทรม จึงมีความจำเป็นที่จะก่อสร้างอาคารสำนักงานประหยัดพลังงานดังกล่าวเพื่อทดแทนอาคารสำนักงานเดิม และใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานแก่หน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความตระหนักและใส่ใจประหยัดพลังงานต่อไป สอดคล้องกับภารกิจตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2561 – 2580 (Energy Efficiency Plan : EEP2018) ทั้งนี้ อาคาร 70 ปี พพ. แห่งนี้ เป็นอาคารสำนักงานสูง 6 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 2,650 ตารางเมตร โดยมีการออกแบบ ตามแนวคิด “ลดพลังงาน เสริมคุณภาพชีวิต” ซึ่งมีแนวคิดการออกแบบที่สำคัญ ได้แก่ “Passive Design” ซึ่งเป็นการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และ “Active Design” ที่มีการออกแบบโครงสร้างอาคารให้มีความยั่งยืนด้านการใช้พลังงาน ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยี หรืออุปกรณ์ทันสมัยเข้ามาช่วยควบคุมการใช้พลังงาน เช่น การใช้ระบบปรับอากาศประสิทธภาพสูงทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ต่างๆ หรือการนำระบบบริหารจัดการอาคารอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ภาครัฐและภาคเอกชน สามารถนำมาเป็นแบบอย่างและต่อยอดเพื่อให้ Net Zero Energy Building เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศไทย

โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาคารแห่งนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงานในอาคาร เช่น การออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โดยใช้หลอด LED ประสิทธิภาพสูง ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับความเข้มแสงและจำนวนผู้ใช้อาคาร เพื่อควบคุมการเปิด-ปิด หลอดไฟอยู่ริมหน้าต่างอัตโนมัติเมื่อแสงธรรมชาติเพียงพอ และปรับปริมาณแสงสว่างให้เพียงพอต่อการใช้งาน อีกทั้ง ใช้ระบบปรับอากาศ ประเภท Variable Refrigerant Flow ที่ทำงานร่วมกับเครื่องตรวจจับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 Sensor เพื่อเติมอาการบริสุทธิ์ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดภาวะอยู่สบาย และยังมีเซ็นเซอร์ตรวจจับฝุ่น PM 2.5 ที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคาร เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้อาคารได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังติดตั้งพลังงานหมุนเวียน ด้วยแผงโซล่าร์เซลส์บนหลังคากว่า 100 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ประมาณ 145,157 kWh/yr (กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี) (92.9% ของความต้องการ) พร้อมแบตเตอรี่ลิเธี่ยม-อิออนเพื่อกักเก็บพลังงานสำหรับใช้ในอาคาร ขนาด 5kWh (กิโลวัตต์ชั่วโมง) 12V จำนวน 2 ชุด รวม 10 kWh (กิโลวัตต์ชั่วโมง)

“พพ. เชื่อมั่นว่า อาคารต้นแบบสาธิตการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์“Net Zero Energy Building” หรือ อาคาร 70 ปี พพ. แห่งนี้ จะเป็นอาคารต้นแบบ ให้กับอาคารอื่นทั่วทั้งประเทศต่อการออกแบบก่อสร้างอาคารให้การใช้พลังงานเกิดประโยชน์สูงสุด ลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล โดย พพ. จะเป็นศูนย์กลางในการกระจายความรู้ออกไปในวงกว้าง ซึ่งคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2579 ประเทศไทยจะมีอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์มากกว่า 2,000 อาคาร แม้ต้นทุนในการพัฒนาอาคารใช้พลังงานเป็นศูนย์จะสูงกว่าอาคารทั่วไป แต่ก็มีความคุ้มค่าในระยะยาว อย่างไรก็ตามไม่เพียงอาคารใหม่ที่สามารถพัฒนาเพื่อเป็นอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ อาคารเก่าที่เปิดใช้งานไปแล้ว ก็ยังสามารถปรับปรุงเพื่อเป็นอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ได้เช่นเดียวกัน” นายโสภณ กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save