ปตท.สผ. ขยายความร่วมมือกับ โพสโค โฮลดิ้งส์ บริษัทผู้ผลิตเหล็กชั้นนำในเกาหลีใต้ แสวงหาโอกาสในการลงทุนพัฒนาโครงการผลิตบลูไฮโดรเจนและกรีนไฮโดรเจนแบบครบวงจร รวมทั้ง โครงการ CCS ต่อยอดการพัฒนาพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่แห่งอนาคต พร้อมทั้งสร้างการเติบโตทางธุรกิจร่วมกัน
มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (Memorandum of Understanding) กับโพสโค โฮลดิ้งส์ (POSCO Holdings) เพื่อร่วมกันศึกษาโอกาสการลงทุนในโครงการพัฒนาพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ และการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการผลิตไฮโดรเจนแบบครบวงจร (Hydrogen Value Chain) ทั้งบลูไฮโดรเจนและกรีนไฮโดรเจน รวมทั้ง หาแนวทางการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ร่วมกันด้วย โดยความร่วมมือดังกล่าว จะครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อไป
ปตท.สผ. และโพสโค โฮลดิ้งส์ เล็งเห็นโอกาสในการใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทมีในแต่ละด้าน มาสร้างโอกาสในการพัฒนาพลังงานสะอาดและธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคตร่วมกัน เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจไปพร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามแนวทางและเป้าหมายของทั้ง 2 บริษัท
พิธีลงนามดังกล่าว จัดขึ้นในงาน H2 Mobility Energy Environment Technology (H2 MEET 2023) ซึ่งเป็นงานประชุมและนิทรรศการด้านไฮโดรเจนขนาดใหญ่ที่ประเทศเกาหลีใต้
ก่อนหน้านี้ ปตท.สผ. โพสโค โฮลดิ้งส์ ร่วมกับ 4 บริษัทพันธมิตรชั้นนำระดับโลก ชนะการประมูลและได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ แปลงสัมปทาน Z1-02 ในรัฐสุลต่านโอมาน โดยมีเป้าหมายที่จะเริ่มผลิตกรีนไฮโดรเจนที่อัตราประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี ในปี 2573
บลูไฮโดรเจน ผลิตขึ้นโดยการนำเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน มาผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยไอน้ำ (Steam Methane Reforming หรือ SMR) ซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมี เพื่อแยกมีเทนให้เป็นไฮโดรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตบลูไฮโดรเจนจะมีการใช้เทคโนโลยี CCS เพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และอัดกลับสู่ชั้นหินใต้ดินอย่างเหมาะสมด้วย
กรีนไฮโดรเจน เป็นพลังงานสะอาดที่เกิดจากการนำพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงแดด หรือพลังงานลม มาใช้ในการแยกองค์ประกอบทางเคมีของน้ำ เพื่อให้ได้ไฮโดรเจน โดยในกระบวนการผลิตจะไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้น จึงไม่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก
การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) เป็นกระบวนการในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม และนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินอย่างถาวร โดยไม่ปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ มีการบริหารจัดการ การติดตาม และตรวจสอบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บอย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยในทุกขั้นตอน เทคโนโลยี CCS มีศักยภาพในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ