กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Beng ใน สปป.ลาว


ตามที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 บริษัทฯ และ China Datang Overseas Investment Co., Ltd. (“CDTO”) ภายใต้เครือของ China Datang Corporation Ltd. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและบริษัทพลังงานชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีโครงการผลิตไฟฟ้า กำลังการผลิตติดตั้งรวมกว่า 170,000 เมกะวัตต์ ครอบคลุม 13 ประเทศทั่วโลก ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (“กฟผ.”) เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Beng (“โครงการ Pak Beng”) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เมืองปากแบ่ง แขวงอุดมไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (“สปป.ลาว”) และจะทำการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดให้แก่ กฟผ. นั้น

บริษัทฯ ขอแจ้งให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 Pak Beng Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และ CDTO ในสัดส่วนร้อยละ 49 และ 51 ตามลำดับ เพื่อดำเนินโครงการ Pak Beng ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) กับ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อย โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลา 29 ปีนับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ และมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ทั้งนี้ โครงการ Pak Beng มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาเงินกู้กับสถาบันการเงิน โดยคาดว่าจะสามารถปิดการจัดหาเงินกู้ได้ภายในปลายปี 2567 และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 8 ปี โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2576

โครงการ Pak Beng เป็นโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลและสภาแห่งชาติสปป.ลาว ซึ่งได้ลงนามสัญญาสัมปทาน (Concession Agreement) กับรัฐบาลสปป.ลาว ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและสปป.ลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสปป.ลาว (MOU) เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) โดยภายใต้ MOU ประเทศไทยจะซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นในสปป.ลาว และเชื่อมโยงผ่านระบบส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีกรอบปริมาณความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 10,500 เมกะวัตต์ มีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 5,935 เมกะวัตต์ จำนวน 11 โครงการ โครงการที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 3,060 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โครงการ และโครงการที่ลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) แล้ว 815 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โครงการ ความร่วมมือภายใต้ MOU ดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดที่จะเข้ามาในระบบ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุรวมกว่าหมื่นเมกะวัตต์ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป และยังตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อีกด้วย

การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ Pak Beng จะช่วยลดความผันผวนจากราคาเชื้อเพลิง และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมให้ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ต่ำตลอดอายุสัญญา เนื่องจากโครงการ Pak Beng มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปัจจุบันที่ 4-5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง อีกทั้ง ภายใต้ข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการ Pak Beng จะต้องมีการใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงบุคลากร การจ้างงานและการบริการจากประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ จึงถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และยังเป็นไปตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ระบุไว้ในแผนรับซื้อไฟฟ้าของประเทศ

โครงการ Pak Beng เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-the-River) ไม่มีการกักเก็บน้ำในรูปแบบของเขื่อนประเภทอ่างเก็บน้ำ (Reservoir) และไม่มีการเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งโครงการ Pak Beng ได้รับความเห็นชอบผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงเรื่องการระบายตะกอน ทางผ่านปลา การโยกย้ายถิ่นฐานของชุมชนในบริเวณโครงการ Pak Beng ในสปป.ลาว และผลกระทบข้ามพรมแดน (Environmental and Social Impact Assessment : ESIA) จากรัฐบาลสปป.ลาว เป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ โครงการ Pak Beng ยังมีมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญที่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินโครงการ Pak Beng จะเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

รายการดังกล่าวมีขนาดรายการไม่ถึงเกณฑ์ตามข้อกำหนดที่ต้องดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 20/2551 เรื่องหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และไม่เป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน แต่บริษัทฯ มีหน้าที่รายงานสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศ และการปฏิบัติการใด ๆ ของบริษัทจดทะเบียน
จึงเรียนมาเพื่อทราบ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save