การประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2560) ที่กำหนดไว้ว่าก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้น ต่อประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนประมาณ 150 คน
สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นประธาน ในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ซึ่งการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตลอดจนกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง โดยจากผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ พบว่า บางหมวด บางมาตรา ของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและสภาพการดำเนินงานในปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานเนื่องจากข้อกำหนดต่าง ๆ ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงนำมาสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ในครั้งนี้ โดยสาระสำคัญของการแก้ไขและพัฒนากฎหมายประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การสร้างความต่อเนื่องในการประกอบกิจการปิโตรเลียม 2. หน้าที่เกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม 3. การสร้างแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียม 4. การพัฒนาองค์กร หน้าที่ และอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายและบทกำหนดโทษ และ 5. การกำกับดูแลธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่
“การแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมในครั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมายดังกล่าว คาดหวังว่าจะเป็นไปเพื่อมุ่งประโยชน์ในการส่งเสริมให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกด้านทั้งในด้านการดึงดูดให้มีการลงทุนด้วยมาตรการต่าง ๆ ในขณะที่รัฐยังได้รับผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล การเพิ่มเติมแก้ไขอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปิโตรเลียม อธิบดี และรัฐมนตรีเพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมมีความคล่องตัว และบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุด รวมทั้งในแง่ของความต่อเนื่องในการผลิตที่ดำเนินการอยู่แล้วให้สามารถดำเนินการต่อได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยประเทศในด้านการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสราวุธ กล่าว
โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมในแต่ละมาตรา ทั้งในเรื่องการต่อระยะเวลาผลิต การลดความซ้ำซ้อนของกฎหมายระหว่างหน่วยงานรัฐ การปรับปรุงบทกำหนดโทษ รวมถึงการเพิ่มบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกักเก็บคาร์บอน ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับภูมิภาคอีกครั้ง ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมอวานี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งได้เปิดช่องทางให้ประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th และเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ www.dmf.go.th ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 14 กันยายน 2566 ด้วย ซึ่งหลังจากรับฟังความคิดเห็นจากช่องทางต่าง ๆ แล้ว จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดมาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป