วันนี้ (ศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมคณะผู้บริหาร ส.อ.ท. เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือและนำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการดำเนินงานในทุกมิติเพื่อทำงานแบบบูรณาการ และพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั่วประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังคงเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมไทย และพยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย สู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นเรื่องของคลีน (Clean) กรีน (Green) และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
“เราได้นำเสนอข้อเสนอแนะแก่นายกรัฐมนตรี ที่ประกอบด้วยข้อเสนอแนะ 8 ข้อหลัก จาก 70 ข้อ โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้าน คือ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การขับเคลื่อน GDP ให้เติบโตมากขึ้น และความยั่งยืน ทั้งเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG” นายเกรียงไกร กล่าวเสริม
ในที่ประชุม ส.อ.ท. ได้เสนอแนะ 8 แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ได้แก่
- การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- กำหนดให้การปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Reform) เป็นวาระแห่งชาติ โดยใช้กลไกผ่านวิธีการแก้ไขกฎหมายกลาง (Omnibus Laws) และ Regulatory Guillotine
- บูรณาการในการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติระหว่างหน่วยงานภาครัฐให้เกิดความชัดเจนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
- รวมศูนย์บริการและขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ แบบ One Stop Service ณ จุดเดียว โดยเฉพาะการขออนุมัติอนุญาตประกอบกิจการ
- การพัฒนาบุคลากร เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ
- การปรับอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าควรเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ค่าจ้างไตรภาคี พิจารณาสอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ โดยให้ยึดข้อเสนอ/ข้อมูลจากคณะกรรมการไตรภาคีของแต่ละจังหวัดเป็นหลักในการพิจารณา
- การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้ง Upskill/ Reskill/ Multi Skill/ Future Skill ให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ
- ส่งเสริมให้จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) และเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานครบทุกสาขาอาชีพ
- การบริหารจัดการด้านพลังงานทั้งระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition)
- เร่งพิจารณาทบทวนแผนพลังงานชาติ หรือ National Energy Plan (NEP) ฉบับใหม่
- ลดภาระต้นทุนพลังงาน และค่าไฟฟ้า โดยบริหารจัดการ Reserve Capacity และทบทวนโครงสร้างพลังงานที่เกี่ยวข้องกับค่า Ft รวมถึงบริหารและจัดสรรก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสม
- เร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ. พลังงาน)
- การส่งเสริมการส่งออก การค้า และสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)
- เร่งสร้างกลไกและแผนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่มีศักยภาพ รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้มีความต่อเนื่องและครอบคลุม Ecosystem ของอุตสาหกรรม
- เร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เช่น FTA ไทย – EU, ไทย – EFTA, ไทย – GCC, อาเซียน – แคนาดา, ไทย – US เป็นต้น
- เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับสินค้า Made in Thailand (MiT) ให้ได้รับแต้มต่อเป็น 10% และให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับภาคเอกชนให้สามารถนำยอดซื้อมาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
- ปกป้องสินค้าไทยโดยการควบคุมสินค้านำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพ
- การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล
- สนับสนุนการลงทุนพัฒนาไปสู่ Digital Transformation 4.0 เพื่อยกระดับขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมการผลิต และ SMEs ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
- ขับเคลื่อนการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) รายอุตสาหกรรม และรายภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนวิจัยพัฒนา/วิเคราะห์ทดสอบ
- ออกมาตรการส่งเสริมภาคเอกชนให้เกิดการซื้อสินค้าในบัญชีนวัตกรรม เพื่อขยายตลาดเข้าสู่ตลาดภาคเอกชน เช่น นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าในบัญชีนวัตกรรม มาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
- การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า และการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
- บูรณาการการบริหารจัดการนํ้าอย่างยั่งยืน เช่น เร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญ ลดการสูญเสียน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพท่อส่งน้ำ (Water Grid) การจัดตั้งกองทุนน้ำ พัฒนาระบบชลประทาน เป็นต้น
- เตรียมความพร้อมในการรับมือมาตรการ Climate Change เช่น จัดทำ Climate Fund, มาตรการส่งเสริมการลด GHG, จัดทำมาตรการ Emission Trading System (ETS), ขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน 4D 1 E เป็นต้น
- ผลักดันการดำเนินการอุตสาหกรรมสีเขียว และเพิ่มมูลค่าสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) โดยส่งเสริมการใช้ Circular Materials , การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR)
- การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs
- ออกมาตรการการเงิน เสริมสภาพคล่อง SMEs เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่า (Soft Loan), มาตรการค้าประกันสินเชื่อเพื่อ SME, มาตรการพักดอกลดต้น เป็นต้น
- ปรับอัตราภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs
- ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ลด 5 % จากอัตราเดิม
- จัดตั้งกองทุนเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับ SMEs เพื่อให้ SME นำเทคโนโลยี Automation & Robotic มาลดต้นทุนการผลิต และทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Logistics และพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม
- แก้ไขปัญหาความแออัด ณ บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในรูปแบบ Shift Mode (เรือ-ราง)
- ยกระดับด่านชายแดนเป็นจุดผ่านแดนถาวร ได้แก่ จุดผ่อนปรนบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุมยวน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และระหว่างไทย – กัมพูชา ได้แก่ จุดผ่อนปรนการค้าบ้านซับตารี อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
- ปรับปรุงผังเมืองทั่วประเทศ ให้พื้นที่เกษตรกรรมสามารถรองรับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)
ระหว่างการหารือ นายเศรษฐา รับฟังข้อเสนอแนะดังกล่าวข้างต้น โดยเน้นย้ำว่าปัญหาที่เราเจอขณะนี้อย่างหนักหน่วง คือ ปัญหาภัยแล้ง โดยต้องมีการบริหารจัดการน้ำรอบด้าน และอยากให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการและภาคเอกชน เดินหน้าจัดทำแผนการดำเนินงาน (Action plan) ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวที่ชัดเจน เนื่องจากเดือนเมษายนปี 2567 ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยก็จะประสบปัญหาภัยแล้งอีกครั้ง และสำหรับประเด็นอื่นๆ จะแบ่งการทำงานออกเป็นทีม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น