การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REFC) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (DRCC) ร่วมเปลี่ยนผ่านและยกระดับระบบไฟฟ้าประเทศไทยสู่ความทันสมัยและมั่นคง (Grid Modernization) พร้อมรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต กิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Forecast Center: REFC) และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center: DRCC) 2 ใน 5 เสาหลักตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565-2574 ณ ห้องศูนย์พยากรณ์ฯ ชั้น 2 อาคาร ท.102 สำนักงานใหญ่ กฟผ.
กิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าวว่า REFC และ DRCC เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาระบบไฟฟ้าของไทยให้ทันสมัยรองรับการเปลี่ยนแปลง (Grid Modernization) ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยปัจจุบัน REFC สามารถพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) สำเร็จแล้ว ซึ่งผลพยากรณ์จะนำไปใช้ในการวางแผนผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น เพื่อให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับความผันผวนและความไม่แน่นอนจากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน ส่วน DRCC ศูนย์กลางในการควบคุมการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าหรือลดโหลด ดำเนินการผ่าน Load Aggregator (LA) ซึ่งจะรวบรวมโหลดของผู้ใช้ไฟฟ้าที่ยินดีรับเงินชดเชยจากการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า ปัจจุบัน DRCC อยู่ระหว่างการดำเนินงานภายใต้โครงการนำร่องซึ่งมีปริมาณโหลดที่ลดลงได้ 50 เมกะวัตต์ โดยมีการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทำหน้าที่เป็น LA ในอนาคตภาคเอกชนสามารถเข้ามาเป็น LA ได้ ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ทางด้านพลังงานต่อไป โดยทุก LA จะอยู่ภายใต้การควบคุมของ DRCC
“REFC และ DRCC ที่จัดตั้งขึ้นนี้จะเป็นต้นแบบของศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระดับภูมิภาค และศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลดระดับภูมิภาค อย่างละ 5 ศูนย์ ตามศูนย์เขตการควบคุมระบบไฟฟ้าเพื่อความทันสมัยและมั่นคง นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนตามสถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. โดยเริ่มต้นที่ 11 ศูนย์ เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 เมกะวัตต์ในอนาคต รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่กระจายอยู่นอกระบบไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งอาจส่งผลต่อการควบคุมและความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศได้” รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าวย้ำ
ความสำเร็จในการจัดตั้งทั้ง 2 ศูนย์นี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ กฟผ. ในการดำเนินงานด้าน Grid Modernization ในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และเชื่อถือได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนา Grid Modernization ในมิติอื่น ๆ ซึ่ง กฟผ. พร้อมเดินหน้าต่อไป เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593