“เมืองน่าอยู่ สู่เมืองอัจฉริย” ในพื้นที่ศักยภาพของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน และผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากนโยบายเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ” ส่วนหนึ่งในการสัมมนาวิชาการออนไลน์ “แนวทางการร่วมบูรณาการเพื่อพัฒนา EEC สู่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ” EEC Towards Smart Livable City จัดโดย นักศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต X-DBA รุ่นที่ 7 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ความสำคัญของเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ แนวทางการบูรณาการ ร่วมกันของทุกภาคส่วนและผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากนโยบายเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ” โดยกล่าวว่า การที่จะเป็นเมืองน่าอยู่แล้ว ความอัจฉริยะต้องพึ่งพาความมีวินัย และสุจริต ต้องไม่มีการคดโกง บริหารบนหลักธรรมาภิบาล ความอัจฉริยะของเมืองต้องขึ้นอยู่กับคน ไม่ใช่เพียงแค่พึ่งเครื่องไม้เครื่องมืออย่างเดียวในการเป็นอัจฉริยะ แต่มันต้องน่าอยู่ด้วย ให้ดูตัวอย่างพัฒนาการศึกษาอย่างโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่มีการพัฒนามาเป็นอย่างดี มีทั้งข้อดี และจุดอ่อน เพราะฉะนั้นเอาสิ่งดี ๆ มาพัฒนาก็จะทำให้ อีอีซี มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง และสัมพันธ์กัน
พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า ในมุมมอง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ยกระดับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยว่า การส่งเสริมเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่เป็นหนึ่งในหลายแผนการพัฒนาของอีอีซี โดยแผนงานนี้มีเจ้าภาพคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นเลขานุการคณะกรรมการ ด้วยการพัฒนาได้ใน 2 แนวทาง คือ การพัฒนาเมืองใหม่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ และเมืองเก่าที่มีศักยภาพให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยขั้นตอนจะขออนุมัติจากคณะกรรมการระดับจังหวัด และคณะกรรมการชุดใหญ่ของประเทศ และเมื่อได้รับการอนุมัติจะมีการขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
“การพัฒนาเมืองอีอีซี จะมีการศึกษา โดยเอาเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใส่ 7 เรื่อง ได้แก่ พลังงาน สุขภาพสาธารณสุข ข่าวสารข้อมูล คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มรายได้ให้คนในพื้นที่ด้วยการใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล ที่ให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเข้าถึงดิจิทัลได้มากกว่า 70%”
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเมืองในพื้นที่อีอีซีที่ได้รับการอนุมัติแล้วจากคณะกรรมการให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี โครงการสามาร์ทซิตี้ และโครงการ EECi ในจังหวัดระยอง ส่วนเมืองใหม่ที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคต มีอีก 10 พื้นที่ใน 3 จังหวัดที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ บริเวณใกล้สนามบินอู่ตะเภาในรัศมีรอบ 30 กิโลเมตร พื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง เมืองเมดิเคิลฮับ จ.ชลบุรี อีอีซีเมืองธุรกิจน่าอยู่
ทางด้าน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง 4 สมัย กล่าวถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะว่า รัฐบาลต้องการวางเป้าหมายให้อีอีซีเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนเชื่อมั่น ซึ่งต่อยอดจากฐานอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งมีความพร้อมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานนอกจากนี้ในการผลักดันให้เป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จะต้องมีระบบสาธารณสุขที่ดี โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคเอกชนผลักดันโครงการสุขภาพที่สำคัญ คือ ศูนย์จีโนมิกส์แห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยบูรพา โดยจะมีการเก็บตัวอย่าง 5 หมื่นคนในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด เพื่อให้สามารถรักษาในระดับพันธุกรรมตามแผนงานการแพทย์อีกด้วย
และจะมีการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดงให้มีศักยภาพในการดูแลประชาชนในพื้นที่อีอีซี โดยเป็นโครงการการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โครงการแรกของกระทรวงสาธารณสุขและภาคเอกชนในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเพื่อลดความแออัด และยกระดับโรงพยาบาล โดยต้องมีการเปิดประมูลเพื่อเสนอราคาและโครงการในการดูแลประชาชนเพื่อเป็นพื้นที่ลงทุน ถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่จะมีการลงทุนแบบ PPP ซึ่งเมืองอัจฉริยะจะเป็นเมืองน่าอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีคุณภาพชีวิต และคุณภาพที่ดีด้วย”
ด้าน ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอัจฉริยะว่า ศักยภาพของเขตอีอีซี สามารถที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะที่มีความน่าอยู่ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่ จากความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีที่มีการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ รวมทั้งการขนส่งที่ทางถนน ทางราง และทางเรือที่เพิ่มบทบาทความเป็นศูนย์กลางในด้านโลจิสติกส์ของอีอีซี
อย่างไรก็ตามแนวทางและนโยบายในการส่งเสริม Smart City ในรูปแบบที่อีอีซีมีการส่งเสริมในปัจจุบันมีพื้นที่อื่นๆที่เป็นคู่แข่งและมีการส่งเสริมการลงทุนเช่นกัน โดยในภูมิภาคอาเซียนและที่ใกล้เคียงมี 2 พื้นที่ดึงดูดการลงทุนเรื่อง Smart City ได้แก่เขตเศรษฐกิจพิเศษในเวียดนาม และในประเทศจีนที่มีการสนับสนุนนโยบาย Smart City ที่สำคัญใน 2 พื้นที่คือ บริเวณ Greater Bay Area และเขตเศรษฐกิจพิเศษไหหลำ
ทั้งนี้การที่จะส่งเสริมให้นโยบาย Smart City ของอีอีซีประสบความสำเร็จ และสามารถดึงดูดการลงทุนได้นอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมแล้วจะต้องมีการเตรียมความพร้อมใน 2 เรื่องคือเรื่องสิทธิประโยชน์และกฎระเบียบ และเรื่องความพร้อมของแรงงาน
ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะต้องมั่นใจว่าสามารถที่จะแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่มีนโยบายใกล้เคียงกับการส่งเสริม Smart City เพื่อดึงดูดการลงทุน ส่วนในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบต้องไม่เป็นอุปสรรคกับการลงทุนใน Smart City และการเตรียมความพร้อมแรงงานรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอัจฉริยะ ได้แก่ทักษะ ในเรื่องดิจิทัล เพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ จะอาศัยระบบดิจิทัลในการสั่งการ ควบคุมจากส่วนกลาง ถือว่าใช้เทคโนโลยีขั้นสูงใช้หุ่นยนต์ และซอฟแวร์ในการกำกับต่างจากในอดีตมาก เช่น โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่เกิดขึ้นจะไม่มีคนงานอยู่บนท่าเรือมากนัก
นอกจากนี้ในเรื่องของแรงงานก็มีความน่าเป็นห่วงคืออัตราการเกิดของประชากรไทยที่น้อยปัจจุบันมีอัตราการเกิดของเด็กใหม่ประมาณ 6 แสนคน และในปีนี้ที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดหลายเดือน อัตราการเกิดของเด็กในไทยจะมีแค่ 4 แสนคนเท่านั้น ขณะที่เวียดนามอัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 1.5 ล้านคน จึงดึงดูดการลงทุน และมีความพร้อมเรื่องแรงงานมากกว่าไทย
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวถึงในมุมมองมุ่งสู่ศูนย์กลางการลงทุน กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 ประเภท ในพื้นที่ อีอีซี ส.อ.ท.พร้อมช่วยผลักดัน พื้นที่ให้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เนื่องจากเห็นโอกาสจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้เกิดนโยบายเปลี่ยนแปลงในด้านการให้ความสำคัญของเทคโนโลยี ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป และต้องมีการปรับตัว ขณะเดียวกันทุกอุตสาหกรรมยังต้องคำนึงเรื่อง สิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมเรื่องของความยั่งยืน
เพราะฉะนั้น ภาครัฐได้เตรียมความพร้อม ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 4.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 5.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 9.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ 10. อุตสาหกรรมดิจิทัล 11.อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ และ 12.อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา