ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าปรับตัวอย่างไร เมื่อโลกหมุนไวกว่าที่เคย


ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกหมุนเร็วกว่าที่เคย สปีดและความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัวกลายเป็นคำสามัญในยุคโลก ไร้พรมแดนที่ผลกระทบจากจุดหนึ่งในโลกส่งต่อมาถึงเราได้เร็วและใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นภาวะโรคระบาด ภาวะความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ วิกฤติสิ่งแวดล้อม ตลอดไปจนถึงสถานการณ์พลังงานโลก

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นซึ่งส่งผลต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ รวมไปถึงค่าครองชีพของประชาชน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพลังงานโดยตรงก็ต้องปรับตัวเช่นกัน บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทไทยที่ประกอบธุรกิจ ผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ร่วมแบ่งปันมุมมองของธุรกิจพลังงานในวันนี้ที่กลายเป็นประเด็นสำคัญของโลก

“การปรับตัว” คือกุญแจสำคัญของบ้านปู เพาเวอร์

กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปู เพาเวอร์ มีความคุ้นเคยกับ “การปรับตัว” มานาน ตั้งแต่ก่อนยุค New Normal เสียอีก เราเชื่อว่าโลก มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เราเองก็ต้องปรับตัวให้เท่าทัน พัฒนาอยู่เสมอเพื่อเตรียมรับมือกับอนาคตและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างทันท่วงที”

องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) คาดการณ์ว่าความต้องการไฟฟ้า จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 60 ภายในปี 25831 ซึ่งบ้านปู เพาเวอร์ ได้เตรียมพร้อมรับมือสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีคุณภาพ (Quality Megawatt) ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ในกลุ่มประเทศยุทธศาสตร์ ด้วยสมดุลของพอร์ตการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ตามหลักความยั่งยืนด้านพลังงาน สะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

“บ้านปู เพาเวอร์ยังคงแสวงหาโอกาสในการเติบโตเพื่อขยายกำลังการผลิตให้ได้ถึงเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ ในปี 2568 ซึ่งการขยายกำลังผลิตหรือการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าใหม่ๆ นั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทำให้เราต้องเจอกับการปรับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของโรงไฟฟ้าที่เราได้มีการพัฒนาตลอดตามยุคสมัย ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดและฉลาดขึ้นตามกลยุทธ์ Greener & Smarter นอกจากนี้ เรายังเรียนรู้รูปแบบการซื้อ-ขายไฟฟ้าที่มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ จากเดิมที่เราลงทุนในประเทศที่มีรูปแบบตลาดไฟฟ้าแบบมีผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Regulated Market) ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐยาว 20-25 ปี เช่น โรงไฟฟ้าในไทย สปป.ลาว จีน และเวียดนาม ซึ่งสิ่งสำคัญของโรงไฟฟ้าในตลาดประเภทนี้คือมุ่งเน้นการบริหารความพร้อมจ่ายไฟให้อยู่ในระดับสูงตามมาตรฐาน เราจึงต้องมีการวางแผนการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพการเดินเครื่องและการซ่อมบำรุงเพื่อให้การเดินเครื่องของโรงไฟฟ้านั้นมีประสิทธิภาพและสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามสัญญา ส่วนในตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี (Merchant Market) อาทิ ในออสเตรเลียและสหรัฐฯ ซึ่งเราเริ่มเข้าไปลงทุนเมื่อปีที่แล้ว มีการกำหนดราคาขายไฟฟ้าขึ้นลงได้ตามความต้องการของตลาด เราจึงนำองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการซื้อ-ขายพลังงาน (Energy Trading) เข้ามาใช้เพื่อกำหนดราคาขายไฟฟ้าให้เหมาะสมซึ่งต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนพลังงาน ช่วงเวลาที่เหมาะสม และปริมาณความต้องการของตลาด ซึ่งสำหรับ บ้านปู เพาเวอร์ถือเป็นทั้งความท้าทายและเป็นโอกาสที่ทำให้เราสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้นเช่นกัน”

บริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมยกระดับการทำงานด้วยเทคโนโลยี

แม้ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงนั้นจะส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม แต่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของ บ้านปู เพาเวอร์ยังมีข้อได้เปรียบที่ทำให้ปัจจัยภายนอกดังกล่าวไม่ส่งผลต่อผลประกอบการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทยมีการทำสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศระยะยาว โดยมีกลไกการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงที่สอดคล้องกับสัญญาการขายไฟฟ้าระยะยาวกับภาครัฐ ส่วนโรงไฟฟ้าเอชพีซีในสปป.ลาว เป็นโรงไฟฟ้าปากเหมือง ซึ่งแหล่งเชื้อเพลิงอยู่ใกล้กับตัวโรงไฟฟ้า จึงสามารถบริหารและควบคุมต้นทุนเชื้อเพลิงเองได้ การปรับตัวจึงเน้นไปในด้านการบริหารต้นทุนและรักษาเสถียรภาพการผลิตควบคู่กับประสิทธิภาพความพร้อมจ่ายไฟใน 3 ด้าน ได้แก่ การตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้มีความพร้อมในการจ่ายไฟฟ้าตามแผนการผลิต การบริหารจัดการการใช้เชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และการให้ความสำคัญกับการบริหารห่วงโซ่อุปทานเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ตั้งแต่ วางแผนการผลิต การสำรองถ่านหิน ตลอดจนการวางแผนการขนส่งเชื้อเพลิงให้มีความต่อเนื่องจากเหมืองจนถึงปลายทางให้เป็นไปตามแผนซึ่งจะทำให้การผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นไปอย่างมั่นคง

อย่างไรก็ดี บ้านปู เพาเวอร์ก็ยังคงมุ่งพัฒนาต่อยอดเพื่อความเป็นเลิศในการผลิตพลังงานไฟฟ้า เราจึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าและยกระดับประสิทธิภาพความพร้อมจ่ายไฟ โดยคุณอิศรา นิโรภาส ผู้อำนวยการสาย – บริหารสินทรัพย์ ได้เผยถึงการปรับตัวของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปว่า “บ้านปู เพาเวอร์ ได้พัฒนาโปรแกรมการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance Software) เพื่อคาดการณ์การเสื่อมสภาพก่อนที่จะเกิดการชำรุดจริง ช่วยแก้ปัญหาการหยุดซ่อมนอกแผนงาน เสริมความน่าเชื่อถือของการผลิต ลดการสูญเสียรายได้ และการใช้ทรัพยากรรวมถึงเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบการดำเนินงานจากระยะไกลได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเหมาะกับโลกปัจจุบันเป็นอย่างมาก ที่เราสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เรายังนำเทคโนโลยี AI Vision เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุสำหรับผู้ร่วมทำงานกับเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยให้การทำงานมีความราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย”

โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โอกาสสำหรับภูมิภาค เสริมความยั่งยืนด้านพลังงาน

“ทิศทางการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนไม่ใช่เพียงเพื่อตอบรับกระแสในปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นโอกาสของทั้งภูมิภาค”

วสุ นุรักษ์ ผู้อำนวยการสายอาวุโส – ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า “จากทิศทางที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างเห็นพ้องในการร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมโลก ทำให้พลังงานหมุนเวียนเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในการดำเนินงานของบ้านปู เพาเวอร์ โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) คือการผลิตพลังงานสะอาดให้ทุกคนเข้าถึงได้ บ้านปู เพาเวอร์มีแผนการลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศยุทธศาสตร์ โดยได้ติดตามนโยบายด้านพลังงานในแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุน พร้อมด้วยการเสริมความรู้ให้บุคลากรอย่างรอบด้านเพื่อเตรียมความพร้อมกับการลงทุนในอนาคตอยู่เสมอ อย่างการที่สหรัฐฯ ประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์จาก 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น จึงเป็นโอกาสของเราในการเข้าไปศึกษาโครงการที่น่าสนใจเพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการขยายระบบนิเวศของบ้านปู (Banpu Ecosystem) ในประเทศที่มีศักยภาพ รวมทั้งยังมองหาความเป็นไปได้ในประเทศต่างๆ ที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงและมีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจน ซึ่งเราเตรียมความพร้อมด้วยการพัฒนาคนของเราและสร้างทีมบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Management) ประจำในแต่ละประเทศคอยตรวจสอบดูแลการบริการจัดการภาพรวมให้มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีความพร้อมจ่ายไฟได้อย่างมีเสถียรภาพ”

เพราะ “ไฟฟ้า” เป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนทุกชีวิตบนโลก ไม่ว่าบททดสอบแห่งโลกธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร บ้านปู เพาเวอร์ก็พร้อมรับมือด้วยความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัวในหลากหลายมิติ ไม่หยุดยั้งพัฒนาธุรกิจผลิตพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ก้าวทันสถานการณ์โลก โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social and Governance: ESG) เพื่อสร้างการเติบโตในฐานะผู้นำด้านพลังงานเพื่อโลกที่ยั่งยืนต่อไป


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save