วันก่อนผมไปงานเลี้ยง เจอเพื่อนที่เป็นวิศวกรใหญ่ของบริษัท รับเหมาก่อสร้าง 1 ใน 5 ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ก็ได้คุยกัน
เพื่อน : ‘เมื่อวานไปดูเขาประกวดราคารถไฟฟ้ากัน’
ผม : ‘กี่ตังค์เหรอ แพงไหม’
เพื่อน : ‘สี่หมื่นกว่าล้าน’
ผม : ‘รถไฟฟ้าอะไรกันแพงขนาดนั้น ของจีนเดี๋ยวนี้ ตกคันละ 4 ซ้า 5 แสนเอง นี่พูดเรื่องอะไรกันเนี่ย’
ที่คุยกันข้างบนนั้นเป็นเหตุการณ์สมมุติ แต่ความเข้าใจผิดกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง เพราะ 2 คนมีคำจำกัดความของรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในหัวไม่เหมือนกัน คนหนึ่งพูดเรื่อง Electric Train แต่อีกคนกำลังนึกถึง Electric Car และด้วยความที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งโครงการขนาดยักษ์ที่เกี่ยวกับทั้ง Electric Train และ High Speed Train ซึ่งเป็นโครงการที่รวมๆ กันแล้วมีราคาเหยียบล้านล้านบาท ถ้าปล่อยให้ความเข้าใจไม่ตรงกันนี้เกิดขึ้นในคนที่เกี่ยวข้อง โครงการหลายแสนล้านบาทนี้จะมีปัญหาได้เมื่อเกิดเหตุต้องขึ้นโรงขึ้นศาลยังจำกันได้ใช่ไหมครับ ที่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยถูกให้ออกเพราะการตีความรูปศัพท์การทำอาหารตามที่ราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติไว้
เรามาลองดูซิว่า ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติคำว่า รถ รถยนต์ รถไฟ รถไฟฟ้า ไว้อย่างไร
รถ คือ ยานที่มีล้อสำหรับเคลื่อนไป เช่น รถกระบะ รถจักรยาน รถตีนตะขาบ รถบดถนน รถประจำทาง รถพยาบาล รถไฟ รถม้า
รถยนต์ รถสองแถว เรยี กว่าคำว่ารถนี้ครอบคลมุ ยานพาหนะทุกชนิดที่มีล้อและเคลื่อนไปได้ ไม่ว่าจะมีเครื่องยนต์หรือไม่มี
รถยนต์ คือ ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ ตามปกติมี 4 ล้อ (โดยมีเครื่องยนต์เป็นส่วนสำคัญ)
รถไฟ คือ รถที่พ่วงกันเป็นขบวนยาว ขับเคลื่อนโดยมีหัวรถจักรลากให้แล่นไปตามราง
รถไฟฟ้า คือ รถที่พ่วงกันเป็นขบวนยาว โดยขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า แล่นไปตามราง (โดยมีไฟฟ้าเป็นคำสำคัญ)
คำสุดท้ายนี้แหละที่เป็นปัญหา แต่ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วประเทศเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น เหมือนกับที่พูดกันว่าจะไปขึ้นรถไฟฟ้าที่สถานี BTS ซอยอารี โดยคนพูดและคนฟังเข้าใจตรงกันว่ากำลังพูดถึง ‘รถไฟ’ หรือรถที่พ่วงกันเป็นขบวนยาว ที่ขับเคลื่อนด้วย ‘ไฟฟ้า’ ไม่ใช่ ‘รถ’ ใดๆ ก็ได้ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและไม่ต้องวิ่งไปบนรางตามรูปศัพท์ตรงตัวของ ‘รถไฟฟ้า’ ที่ไม่ใช่ตามที่ราชบัณฑิตยสภาบัญญัติไว้ อ่านแล้วงง ใช่ไหมครับ…
ดังนั้นถ้าจะไม่ให้สับสนและไม่เป็นปัญหากับโครงการหลายแสนล้านของประเทศ รัฐบาลต้องเร่งทำความเข้าใจในเชิงวิศวกรรมที่ได้พัฒนาก้าวหน้าไปเร็วกว่าอัตราเร็วของการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสภา โดยบัญญัติเสียให้ถูกต้อง คือถูกต้องทั้งทางวิศวกรรมศาสตร์และทางภาษาศาสตร์ ผมที่เป็นเพียงอาจารย์สอนทางวิศวกรรมศาสตร์ และไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ใดๆ ทัง้ สิ้น ขออาสาหาญกล้ามาเสนอคำศัพท์พวกนี้ให้เกิดความกระจ่างขึ้น ดังนี้
ถ้าเราต้องการหมายถึงรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเราก็กำลังพูดถึง Electric Train ฉะนั้นคำที่ถูกต้องต้องเป็น ‘รถไฟไฟฟ้า’ ส่วนถ้าเราหมายถึงรถเมล์ที่วิ่งได้ด้วยพลังไฟฟ้า เราก็ต้องใช้คำว่า รถประจำทางไฟฟ้า ซึ่งตรงกับคำว่า Electric Bus
แต่ถ้าเราใช้คำว่า รถยนต์ไฟฟ้า คำนี้น่าจะตรงกับรถที่เป็นแบบไฮบริด หรือ Hybrid Car หรือรถพันทาง คือ ใช้ทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน สลับกันไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ตรงกับความเข้าใจที่พวกเรามีกันอยู่ในปัจจุบันทุกคนที่มักนึกไปถึงคำว่า Electric Car สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แต่โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีก็ได้ล้ำหน้าไปแล้วจึงมีหน้าที่ที่ต้องปรับความเข้าใจให้ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ทั้งสังคมวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์บริสุทธิ์
หากถ้ามองได้ทะลุแบบนี้ คำว่า ‘รถไฟฟ้า’ โดยรูปศัพท์จึงเป็นคำรวมๆ ซึ่งจะเป็นรถจักรยานไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ฯลฯ ก็ได้ แต่ถ้าเป็น เช่น นั้นแลว้ คำว่า Electric Car จะใช้คำไทยว่าอะไรหากใช้คำว่ารถไฟฟ้าไม่ได้ ผมก็อยากจะเสนอทางออกที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งไม่ถูกต้องนักในทางรากศัพท์ คือ ให้เราใช้คำว่ารถไฟฟ้า กับ Electric Car นี่แหละ ด้วยเหตุผลของความเคยชินที่เป็นที่ยอมรับกันไปแล้วว่า ‘รถ’ ในที่นี้หมายถึง ‘Car’ เท่านั้น ซึ่งแน่ละ อาจจะมีคนเห็นแย้ง แต่ก็ไม่แปลกอะไร เพราะเรากำลังถกกันว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศไทย
ยังมีอีกคำหนึ่งครับที่สับสนมาก คือคำว่า Electric Vehicle หรือ EV ที่หลายคนชอบเรียกว่ารถไฟฟ้า คำไทย คำนี้ผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะโดรนก็เป็น EV เรือก็เป็น EV ได้ เครื่องบินสมัยนี้ก็เป็นแบบ EV กันแล้ว ถ้างั้นจะเรียก EV ว่าอะไร คณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์วิศวกรรมโยธาของราชบัณฑิตยสภาได้กำหนดให้ใช้คำว่า ‘ยานพาหนะไฟฟ้า’ ครับ คือยานพาหนะ (Vehicle) ใดๆ ก็ได้ที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานขับเคลื่อน
ส่วนถ้าจะให้เรียกง่ายๆ จำได้ไม่ยาก ผมเสนอเรียก ‘อีวี’ เลย ง่ายดี สั้นดี แต่มีบางกลุ่มโดยเฉพาะสื่อมวลชนบางคนเรียกว่า ‘รถอีวี’ อันนี้ผิดแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ