สำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (U.S. Energy Information Administration-EIA) จัดทำรายงานคาดการณ์พลังงานประจำปี 2561 หรือ Annual Energy Outlook 2018 ระบุว่า การผลิตถ่านหินของสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้ในประเทศ และส่งออกจะมีปริมาณคงที่ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2593 แม้ว่าจะมีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายโรงก็ตาม
คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้ถ่านหินและการส่งออกถ่านหินของประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกัน (1. กรณีที่ยัง ใช้นโยบายพลังงานในปัจจุบัน 2. กรณีที่เทคโนโลยีน้ำมันและก๊าซพัฒนาในระดับสูง 3. กรณีที่เทคโนโลยีน้ำมันและก๊าซพัฒนาในระดับต่ำ)
รายงานของ EIA ระบุด้วยว่า ณ สิ้นปี 2560 สหรัฐอเมริกามีกำลังผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหิน 260,000 เมกะวัตต์ ซึ่งลดลงจากปี 2554 ที่มีกำลังผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินสูงสุดถึง 310,000 เมกะวัตต์ โดยในช่วง 3 ปี ข้างหน้า คือระหว่างปี 2561-2563 สหรัฐอเมริกามีแผนจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตรวม 25,000 เมกะวัตต์ ส่วนช่วงปี 2561-2573 กำลังผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินจะลดลงอีก 65,000 เมกะวัตต์ แต่ระหว่างปี 2573-2593 จะไม่มีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติมอีก
แต่ถึงแม้จะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่ ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะยังคงที่ เนื่องจากการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินจะทยอยปิดเพียงบางส่วน และอัตราการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ยังใช้งานอยู่จะเพิ่มจากร้อยละ 56 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 70 ในปี 2573 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงพอๆ กับในช่วงระหว่างปี 2543-2553
ณ ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินเป็นลำดับที่ 2 รองจากก๊าซธรรมชาติ และมีการคาดการณ์ว่า สัดส่วนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกาจะลดลงจากร้อยละ 31 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 22 ในปี 2593 เนื่องจากการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
หากพิจารณาเทียบจากปัจจัยค่าความร้อน ก๊าซธรรมชาติจะมีราคาสูงกว่าถ่านหิน โดยในปี 2560 ก๊าซธรรมชาติมีต้นทุนเฉลี่ย 3.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหนึ่งล้านบีทียู เทียบกับถ่านหินที่มีราคาอยู่ที่ 2.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหนึ่งล้านบีทียู อย่างไรก็ตามเนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกามีประสิทธิภาพสูงกว่า จึงทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าก๊าซเฉลี่ยอยู่ที่ 26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง เทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งอยู่ที่ 22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง
EIA ยังคาดการณ์ด้วยว่า ภายใต้สมมติฐานว่าเทคโนโลยีของก๊าซและน้ำมันได้รับการพัฒนาในระดับสูง ราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงจะกระตุ้นให้มีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ คาดการณ์ว่าจะมีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตรวม 85,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 และอีก 18,000 เมกะวัตต์ ในปี 2593 สัดส่วนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าจะลดลงเหลือร้อยละ 14 ในปี 2593 และอัตราการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินผลิตไฟฟ้าจะต่ำกว่าร้อยละ 60
ตรงกันข้าม ภายใต้สมมติฐาน หากเทคโนโลยีของก๊าซและน้ำมันไม่ได้รับการพัฒนา ราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงจะทำให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินปิดเพียงไม่กี่โรง เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินให้ผลกำไรที่ดีกว่าก๊าซธรรมชาติ ในกรณีนี้ จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิต 44,000 เมกะวัตต์ ปิดลงในปี 2573 แต่ช่วงปี 2573-2593 จะไม่มีโรงฟ้าถ่านหินปิดเพิ่ม และสัดส่วนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 26 ส่วนอัตราการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินผลิตไฟฟ้าจะสูงกว่าร้อยละ 70 ในช่วงปี 2564-2593
ทั้งนี้ ปริมาณถ่านหินที่สหรัฐอเมริกาผลิตได้ทั้งหมด นอกจากนำไปใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าที่ครองสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 82 แล้ว ยังส่งออกไปต่างประเทศในสัดส่วนร้อยละ 11 ที่เหลืออีกร้อยละ 7 ถูกนำไปใช้ในภาคพาณิชย์และอุตสาหกรรม
ข้อมูล: EIA Projects That U.S. Coal Demand Will Remain Flat for Several Decades
http://theenergycollective.com/todayinenergy/2430170/eia-projects-that-u-s-coaldemand-will-remain-fl at-for-several-decades