5G…โอกาสเพื่อการฟื้นตัวของไทยและผลักดันประเทศสู่ดิจิทัลไทยแลนด์เต็มขั้น


5G...โอกาสเพื่อการฟื้นตัวของไทยและผลักดันประเทศสู่ดิจิทัลไทยแลนด์เต็มขั้น

ปัจจุบันผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกต่างพากันผลักดันเครือข่าย “5G” ที่นอกจากจะมอบความเร็วของการเชื่อมต่ออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ยังช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สร้างรายได้ รวมถึงช่วยให้ภาคธุรกิจในประเทศฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เร็วขึ้น นี่อาจเป็นคำตอบสำหรับประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งเป็นโอกาสให้ประเทศไทยฟื้นตัวกลับมาเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างเต็มตัว

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยี 5G ต่อประเทศไทยว่า “5G จะเป็นสิ่งที่มาเปลี่ยนวิถีชีวิตและวิธีบริหารประเทศของไทยทั้งหมด โดยจะไม่ได้ขับเคลื่อนเฉพาะเครือข่ายมือถือ รัฐบาลไทยเตรียมนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้กับการทำสมาร์ทซิตี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือภาคการเกษตร โดยรัฐบาลต้องการพัฒนา 5G ทำให้ใช้งานได้ทั้งประเทศ เพราะเรามองว่าข้อมูลคือสิ่งสำคัญที่สุดในการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งยังสำคัญต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันระหว่างประเทศ”

รมว.ดีอีเอส ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของภาครัฐคือ การใช้งานในภาคสาธารณสุข ซึ่งช่วงที่เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยได้ใช้โซลูชัน AI จากหัวเว่ยในการช่วยรับมือกับไวรัสดังกล่าว โดยใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของผลการตรวจ CT Scan ผู้ป่วยโควิด-19 จากประเทศจีนนับหมื่นราย นำมาเปรียบเทียบกับผลตรวจของผู้ป่วยในไทยเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด ซึ่งระบบนี้มีความแม่นยำในการตรวจถึง 96% และยังช่วยแบ่งเบาภาระ รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในไทยได้อย่างมาก

ทั้งนี้ อุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้กับเทคโนโลยี 5G ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงโทรศัพท์มือถือเหมือนในยุคก่อน แต่ยังครอบคลุมไปถึงอุปกรณ์ไอทีสำหรับผู้บริโภค สำหรับการใช้งานในองค์กรและการใช้งานในภาคการผลิตอีกด้วย

วรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์

วรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในยุคของ 5G อุปกรณ์ที่มีการรองรับการใช้งาน 5G จะมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G และอุปกรณ์ประเภท 5G CPE ที่ทำการเปลี่ยนสัญญาณ 5G ให้เป็นสัญญาณไวไฟเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อ อุปกรณ์แวเรเบิลดีไวซ์ แว่น VR/AR ไปจนถึงอุปกรณ์ 5G Module ที่นำไปใช้งานร่วมกับระบบหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด

“ภายในปี ค.ศ. 2020 เราจะเห็นผลิตภัณฑ์มือถือที่รองรับการใช้งานบนเทคโนโลยี 5G มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาอุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน 5G ก็จะลดลง ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้ใช้งาน 5G ในประเทศไทยแพร่หลายยิ่งขึ้น นอกจากเทคโนโลยี 5G จะช่วยยกระดับด้านเครือข่ายการเชื่อมต่อ และทำให้อุตสาหกรรมในประเทศไทยมีความชาญฉลาด 5G ยังจะช่วยทำให้เกิดการสร้างรายได้ในอีก 3 มิติ อันได้แก่ มิติการสร้างรายได้จากประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้นอันเกิดจากความเร็วในการเชื่อมต่อที่สูงขึ้นและมีค่าความหน่วง (Latency) ต่ำลง มิติจากการสร้างรายได้จากปริมาณการใช้งานข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นจากการใช้งานแอปพลิเคชันและสื่อออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ และมิติจากการสร้างรายได้ด้วยการรองรับปริมาณการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าผู้ใช้งานบนเครือข่ายให้มากขึ้นกว่าเดิม”

นอกจากนี้ วรกาน ยังมองว่าประเทศไทยค่อนข้างก้าวหน้าในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ และมีผลงานที่ดีในการผลักดัน 5G ในช่วง 6 เดือนหลังจากเสร็จสิ้นการประมูลคลื่นความถี่เห็นได้จากการใช้งานโซลูชันรูปแบบใหม่ที่หลากหลายในภาคสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Cloud และ AI บน 5G สำหรับใช้ตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโควิด-19 การติดตั้งเครือข่าย 5G เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อให้แก่ระบบของโรงพยาบาล หรือการใช้หุ่นยนต์ขนส่งอุปกรณ์เวชภัณฑ์ผ่านการเชื่อมต่อเครือข่าย 5G เป็นต้น

ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้ 5G ในภาคสาธารณสุขยังสามารถขยายผลไปใช้งานในรูปแบบอื่นได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดทางไกลการให้คำปรึกษาทางไกลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันหรือระหว่างแพทย์กับคนไข้ หรือแม้แต่การนำหุ่นยนต์มาใช้ฆ่าเชื้อและตรวจผู้ป่วยในอนาคต

“ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีที่ดีอยู่กับประเทศไทย หากประเทศไทย สามารถผลักดันอีโคซิสเต็มของ 5G ซึ่งประกอบด้วย โอเปอเรเตอร์หรือผู้ให้บริการโครงข่าย ผู้ให้บริการโซลูชัน ภาคอุตสาหกรรมแนวดิ่งพาร์ทเนอร์รายย่อย และภาครัฐหรือสมาคมในอุตสาหกรรมให้ช่วยกันส่งเสริมการใช้งาน 5G ไปพร้อมกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมซึ่งน่าจะได้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี 5G รวมทั้งผลักดันทักษะด้านดิจิทัลของทรัพยากรบุคคล สิ่งเหล่านี้จะช่วยพาประเทศไทยเข้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะ 5G ไม่ได้เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง ต้องใช้ความร่วมมือด้วยกัน”

5G สร้างอีโคซิสเต็มยกระดับภาคอุตสาหกรรม

ผู้บริหารหัวเว่ยได้กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G ของภูมิภาคอาเซียน ซึ่ง 5G อีโคซิสเต็มจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจจากคุณภาพและรูปแบบของบริการใหม่ๆ มากขึ้น ที่สำคัญ 5G ยังช่วยให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ได้ดีขึ้น จากการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันและบริการรูปแบบใหม่ซึ่งเกิดจากเครือข่ายความเร็วสูงแห่งอนาคต

อาเบล เติ้ง

อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานสัมมนาสำหรับสื่อมวลชนภายใต้หัวข้อ “5G อีโคซิสเต็มและอนาคตของประเทศไทย” ว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยี 5G ในระดับแนวหน้า โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ช่วยผลักดันภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในทุกๆ ด้าน การมาถึงของ 5G อีโคซิสเต็มจะช่วยพัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานทั่วไป รวมทั้งยกระดับสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งภารกิจของหัวเว่ยประเทศไทยคือการเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย เรามุ่งมั่นสนับสนุนการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้พัฒนาธุรกิจต่างๆ เพราะเป็นกุญแจสำคัญต่อการฟื้นฟูและสร้างการเติบโตทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลิตผล ลดค่าใช้จ่าย และยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้น เราจำเป็นต้องสร้างอีโคซิสเต็มเพื่อรองรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม โดยเทคโนโลยี 5G จะไม่เพียงช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานทั่วไป แต่จะช่วยยกระดับสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย ซึ่งประเทศไทยนับว่ามีความก้าวหน้าอย่างมาก เพราะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของอาเซียนที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้แล้ว”

5G อีโคซิสเต็ม

นอกจากนี้ วรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าองค์ประกอบของ 5G อีโคซิสเต็ม ประกอบไปด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  • นวัตกรรมในภาคธุรกิจ (Business Mode Innovation) การเกิดรูปแบบการบริการใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะไม่จำกัดเพียงการให้บริการด้านความเร็วบนอุปกรณ์มือถือ โดยนอกจากการให้บริการระหว่างธุรกิจองค์กรกับผู้บริโภค (Businessto-Consumer) 5G จะทำให้เกิดการใช้งานระหว่างธุรกิจองค์กรด้วยกัน (Business-to-Business)
  • พาร์ทเนอร์ในอีโคซิสเต็ม (Local Ecosystem Integration) การจะสร้างเครือข่ายสำหรับทุกภาคอุตสาหกรรมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์จากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมได้แก่ ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแบบแนวดิ่งผู้ให้บริการด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างหัวเว่ย และผู้จัดทำโซลูชันในประเทศ
  • 5G ที่ใช้งานได้จริง (Real Use Cases) 5G ในปี ค.ศ. 2020 จะเป็นเรื่องที่จับต้องได้ มีเครือข่ายที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเทคโนโลยี 5G จะไม่ได้เป็นเพียงการทดสอบในห้องแลปหรือกรณีศึกษาแบบในปีที่ผ่านมา แต่จะเป็นการนำไปประยุกต์ใช้จริง
  • ประสบการณ์และความสำเร็จจากทั่วโลก (Global Best Practices) เนื่องจากหัวเว่ยทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์และพาร์ทเนอร์ชั้นนำทั่วโลก จึงทำให้เราสามารถนำประสบการณ์ที่หลากหลายและตัวอย่างความสำเร็จจากตลาดอื่นมาปรับใช้กับประเทศไทยได้

5G

โดย อาเบล กล่าวเสริมว่า “5G จะช่วยยกระดับด้าน การเชื่อมต่อ (Connectivity) ในขณะที่ AI จะช่วยยกระดับด้านความชาญฉลาด (Intelligence) เมื่อนำนวัตกรรมทั้ง 2 มาผสานกันจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ที่ไร้ขีดจำกัด (Infinite Possibilities) โดยอีโคซิสเต็มจากเทคโนโลยี 5G จะทำให้ทุกภาคอุตสาหกรรมในอนาคตนำทั้งเทคโนโลยี Cloud, AI และ Big Data ไปประยุกต์ใช้ร่วมกับ 5G จนเกิดความ “อัจฉริยะ” ในทุกกระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต อัจฉริยะ (Smart Manufacturing) อุตสาหกรรมสาธารณสุขอัจฉริยะ (Smart Healthcare) หรือแม้แต่ระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้แก่ องค์กรในประเทศไทย รวมถึงสร้างโอกาสการต่อยอดรายได้และเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น”

รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ จาก 5G สำหรับผู้บริโภค ได้แก่ การให้บริการในรูปแบบ Virtual Reality (VR), Augment Reality (AR), การเล่นเกมแบบ Cloud Gaming ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบ การถ่ายทอดสดออนไลน์ (Live-Streaming) ด้วยความละเอียดระดับ 4K หรือผ่าน VR/AR เป็นต้น

สำหรับภาคธุรกิจองค์กร 5G จะเข้าไปมีบทบาทได้ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม โดยสามารถพัฒนาโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การเพิ่มจำนวนผลผลิต ลดจำนวนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีตำหนิหรือไม่ได้มาตรฐาน และลดต้นทุนให้แก่กระบวนการผลิตและการดำเนินการ

นอกจากนี้ 5G ยังจะช่วยยกระดับ Digital Society ของประเทศไทย ได้แก่ การต่อยอดมาตรฐานของภาคสาธารณสุขการสนับสนุนภาคการศึกษาออนไลน์ และการสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัลให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ซึ่งจะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ พร้อมกันนี้ 5G ก็ยังมีบทบาทในการผลักดัน Digital Economy ของประเทศ ได้แก่ ภาคเกษตรกรรมภาคอุตสาหกรรม ภาคอีคอมเมิร์ซ และภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันภาคเศรษฐกิจในประเทศไทยให้เดินหน้าต่อได้ภายใต้ความท้าทายที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่หลายประเทศหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจในขณะนี้

“ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญมากสำหรับประเทศไทยและสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ได้ในช่วงเวลาของความท้าทายเช่นนี้ โดยรูปแบบการใช้งานแบ่งเป็น 2 แนวทางหลัก ได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อช่วยโปรโมตภาคการท่องเที่ยวของไทย และการประยุกต์ใช้ 5G เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคการท่องเที่ยวของไทย” วรกาน กล่าวเสริม

เทคโนโลยี 5G กับการแพทย์

เทคโนโลยี ICT เสริมแกร่งโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ

ในงานประชุม Huawei Global Power Summit จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “บิตขับเคลื่อนวัตต์ สร้างโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่เชื่อมต่อครบวงจร” (Bits Drive Watts, Building a Fully Connected Smart Grid) ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับผลกระทบและวิธีรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปีนี้

การสัมมนาครั้งนี้มีการกล่าวถึงตลาดพลังงานไฟฟ้าที่ยังคงมีศักยภาพสูง จึงเกิดคำถามว่าภาคอุตสาหกรรมจะสามารถสร้างและพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่มีความเสถียร ประสิทธิภาพสูง คุ้มค่าต่อการลงทุน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสมเหตุสมผลได้อย่างไร

บริษัทพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกกำลังเฟ้นหาวิธีการในการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ผ่านการสร้างศูนย์ข้อมูลและการปฏิรูปแพลตฟอร์มการจัดการต่างๆ โดยมุ่งผลิตพลังงานที่เสถียร มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความปลอดภัยต่อโครงข่าย พร้อมมอบบริการที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ผ่านเครือข่ายระบบพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อมโยงถึงกันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาของสังคม อย่างไรก็ตาม โมเดลการทำงานและเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมไม่สามารถส่งเสริมการปฏิรูปอุตสาหกรรมในลักษณะนี้ได้ ฉะนั้นอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าระดับโลกจึงจำเป็นที่จะต้องทบทวนเกี่ยวกับการปรับตัวเพื่อรับมือกับเทรนด์ความท้าทายใหม่ๆ เช่น โครงข่ายไฟฟ้าจะสามารถตรวจจับปัญหาด้านความปลอดภัยและรับมืออย่างทันท่วงทีได้อย่างไร เราจะสามารถใช้พลังงานสะอาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร และเครือข่ายพลังงานจะสามารถตอบสนองต่อสถานีจ่ายไฟฟ้าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

ในขณะเดียวกัน ความท้าทายย่อมหมายถึงโอกาส หัวเว่ยได้ผสานเทคโนโลยี 5G, IoT, Optical, IP, Cloud, Big Data และAI เข้ากับระบบพลังงานไฟฟ้าอย่างไร้รอยต่อ โดยร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อเปิดตัวโซลูชันสมาร์ทเซอร์วิสหลายรูปแบบ อาทิ การตรวจสอบระบบโครงข่ายไฟฟ้าโดยใช้ขุมพลังของ AI และการจ่ายไฟด้วย IoT ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการผลิตพลังงาน การส่งสัญญาณ การแปลงพลังงาน การจ่ายไฟ รวมไปถึงการใช้ไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้ช่วยทำให้เกิดเซนเซอร์ที่ครอบคลุม เชื่อมต่อถึงกันได้ และยังทำให้เทอร์มินัลพลังงานหลายตัวสามารถส่งมอบบริการอันชาญฉลาดได้

ปัจจุบันบริษัทด้านพลังงานไฟฟ้าที่ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำในภาคอุตสาหกรรมหลายรายได้กล่าวถึงความสำคัญของเทคโนโลยี 5G, AI, Big Data และการประมวลผล Cloud Computing ที่มีผลต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทั้งนี้เทคโนโลยีการจัดแบ่ง (Slicing Technology) แบบ 5G ที่ล้ำสมัยของหัวเว่ย สามารถทำให้เกิดการสื่อสารแบบต้นสายถึงปลายสายบนโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งทำให้เครือข่ายการจ่ายพลังงานมีความปลอดภัยและเสถียร ทั้งยังมีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น ส่วนเทคโนโลยี Huawei Cloud และแพลตฟอร์มข้อมูลจะช่วยจัดเตรียมแหล่งความจุข้อมูลและความสามารถด้านการประมวลผลคอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาล ผสานข้อมูลจากหลายระบบในโครงข่ายไฟฟ้าของบริษัทหนึ่งๆ เข้าด้วยกันเป็นแพลตฟอร์มเดียว โดยการประมวลผลและการแบ่งปันข้อมูลด้วยความเร็วสูงของแพลตฟอร์มดังกล่าว จะช่วยทำให้งานที่ท้าทายหลากหลายรูปแบบสำเร็จลุล่วงไปได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยี AI ของหัวเว่ยที่ฝังเข้าไปในกล้องและหุ่นโดรนต่างๆ ยังช่วยให้ทีมปฏิบัติงานและบำรุงรักษาอุปกรณ์สามารถตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าและจุดบกพร่องต่างๆ จากระยะไกลได้

นอกจากนี้ การให้บริการด้านดิจิทัลด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้านสายใยแก้วนำแสง ไซต์เครือข่าย และนวัตกรรมโซลูชันไอซีทีที่มีอยู่มากมายยังถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์สำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลสำหรับบรรดาบริษัทด้านพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกอีกด้วย


Source: นิตยสาร Electricity & Industry Magazine ปีที่ 27 ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2563
คอลัมน์ Special Scoop โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save