บริษัท ไทยยูเนี่ยน มีประวัติที่ยาวนานตั้งแต่ปี 2520 เริ่มตั้งบริษัทภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยรวมสินอุตสาหกรรม จำกัด เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแปรรูปและส่งออกทูน่ากระป๋อง ต่อมาเติบโตและสั่งสมประสบการณ์จนกระทั่งมีผลิตภัณฑ์และเป็นแบรนด์ที่นิยมของผู้บริโภคทั่วโลก โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุดในโลก ต่อมาเปลี่ยนเป็นบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) จนปี 2558 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด มหาชน พร้อมทั้งเปิด ศูนย์นวัตกรรม Global Innovation Incubator เพื่อเป็นการเร่งความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับโลก และเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยเริ่มตั้งศูนย์ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยมหิดล ทำงานร่วมกับนักวิจัยในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ต่อมาจึงย้ายมาที่อาคารเอสเอ็ม สถานที่ในปัจจุบัน
ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการผลิต นวัตกรรมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนรู้ลึกถึงการพัฒนารสชาติ เนื้อสัมผัสของอาหาร ก่อนส่งออกจัดจำหน่ายในตลาด ศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการด้านเคมี ห้องปฏิบัติการด้านโภชนาการ และห้องปฏิบัติการด้านนวัตกรรม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งมีโรงงานต้นแบบ สำนักงาน และพื้นที่สำหรับการจัดประชุมและงานกิจกรรมต่าง ๆ เรียกได้ว่าศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนเพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการวิจัยและค้นคว้าด้านปลาทูน่าโดยเฉพาะ เพื่อสร้างความยั่งยืนด้วยการใช้ทรัพยากรประมงให้มีประสิทธิภาพด้วยวิธีการผลิตและเทคโนโลยีทันสมัยทัดเทียมสากล
ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศูนย์นวัตกรรมนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อการใช้งานอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในงานอเนกประสงค์ การควบคุมเสียง การสั่น ความชื้น การระบายอากาศ และความดันอากาสได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีนักวิจัยทำงานที่ศูนย์แห่งนี้ประมาณ 150 คน ที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติ และใช้เงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนคิดเป็นร้อยละ 10 ของรายได้บริษัท ภายในปี พ.ศ. 2563 นอกจากนั้นยังใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาทในการซื้ออุปกรณ์ด้านวิจัยที่ทันสมัย ซึ่งที่ผ่านมา ในปีพ.ศ. 2558 งานวิจัยหลักเรื่องทูน่าของบริษัทได้รับการยกย่องว่ามีความทันสมัยในระดับโลก
“นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจของไทยยูเนี่ยนให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกระดับ อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของบริษัท เพราะนวัตกรรมจะช่วยสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด” ดร. ธัญญวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
ปัจจุบันทางศูนย์นวัตกรรมได้ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาในหลาย ๆ ประเทศ อาทิ นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สเปน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น
งานไทยแลนด์แล็บ อินเตอร์เนชั่นแนล 2019 ครั้งที่ 9 จะจัดขึ้นในวันที่ 25-27 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา เป็นงานแสดงเทคโนโลยี เครื่องมือและบริการสำหรับห้องปฏิบัติการ หรือห้องแล็บครบวงจร พร้อมเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี ด้านเครื่องมือวิเคราะห์ เคมีภัณฑ์ และความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ตัวอย่างงานสัมมนาที่น่าสนใจ ได้แก่
- นวัตกรรมชุดทดสอบอาหาร เพื่อความปลอดภัยที่ยั่งยืน โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
- แนวโน้มการวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสในอนาคต โดยสมาคมไวรัสวิทยาประเทศไทย
- กัญชาเสรีในมิติทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำได้จริงหรือ? โดยสถาบันอาหารร่วมกับสมาคมเอโอเอซี ประเทศไทย
- แนวโน้มและโอกาสทางธุรกิจของธุรกิจสุขภาพในยุคดิจิตัล
- ตลาดชีววิทยาศาสตร์ในระดับโลก และการแพทย์แม่นยำ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
- ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สินค้าปศุสัตว์เพื่อการส่งออก โดยสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์
- การสร้างแนวปฏิบัติการจัดการสารเคมีในห้องปฏิบัติการของอุตสาหกรรมเคมีในประเทศไทย โดยสำนักพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนเข้างานฟรีที่ www.thailandlab2019.com โดยงานไทยแลนด์ แล็บ อินเตอร์เนชั่นแนล 2019 ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน 2562 ณ ไบเทค กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 10:00-17:00 น.