สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะสื่อมวลชนร่วมกิจกรรม Site Visit to LAB ตอน FabLab วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เยี่ยมชมนวัตกรรมเยาวชนในโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม จำนวน 5 ผลงานที่พัฒนาขึ้นจากเครื่องมือทางวิศวกรรมในห้อง FabLab ได้แก่ ชุดสาธิตแขนกล หุ่นยนต์มด กล่องฆ่าเชื้อด้วยแสง UV และเครื่องวัดอุณหภูมิแบบไม่สัมผัส สุดท้ายแขนกลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรรม (Innovation) ให้แก่เยาวชนไทยในการคิดสร้างสรรค์ ออกแบบและสร้างชิ้นงานโดยใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีการนำเยี่ยมชมโดย ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยทีม สวทช. และคณะสื่อมวลชน โดยมี นายชาญชัย ชาญสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากร วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับ
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีการสนับสนุนการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลักดันผ่านโครงการ FabLab หรือ โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ให้แก่สถานศึกษาหลายแห่ง เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรรม (Innovation) ให้แก่เยาวชนไทย ในการคิดสร้างสรรค์ ออกแบบและสร้างชิ้นงาน โดยมีการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมและเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องในห้อง FabLab โดยห้องปฏิบัติการ FabLab ของวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เป็นหนึ่งใน 50 ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาจากทั่วประเทศ ซึ่งเครื่องมือทางวิศวกรรมในห้อง FabLab ดังกล่าวจะช่วยพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม ความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบและสร้างชิ้นงานได้ รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจและสนใจที่มีอาชีพเป็นวิศวกรหรือนวัตกรในอนาคต
นายชาญชัย ชาญสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากร วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี กล่าวว่า ทางวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทยในสถานศึกษา และนี้จะเป็นการพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครูให้มีทักษะด้านวิศวกรรมเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ซึ่งกันและกัน และจะสามารถออกแบบและสร้างชิ้นงานโดยการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรม รวมทั้งเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์นี้จะเป็นการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ให้กับประเทศไทย และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำไปใช้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
สำหรับผลงานสิ่งประดิษฐ์ไฮไลท์ที่พัฒนาขึ้นจากห้อง FabLab วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ได้แก่ ชุดสาธิตแขนกล (Robot Arm) ซึ่งมีการสั่งการหุ่นยนต์ด้วยการกดสวิตช์ และมีการควบคุมโดยการโปรแกรม เพื่อการสั่งให้หุ่นยนต์จับคัดแยกสิ่งของและนับจำนวนสิ่งของ โดยควบคุมการทำงานด้วยปุ่มกดบังคับที่กำหนด ซึ่งหุ่นยนต์สามารถคัดแยกสิ่งของเป็นหมวดหมู่และนับจำนวนสิ่งของได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หุ่นยนต์เพื่อการศึกษาเบื้องต้น (หุ่นยนต์มด) เป็นการช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้และกรณีศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และกระบวนการทางวิศวกรรม ผ่านโปรแกรมหุ่นยนต์ สร้างทางเลือกใหม่ให้กับนักเรียน ในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเปลี่ยนการเล่นให้เป็นการเรียนรู้ เป็นการส่งเสริมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และเป็น Thailand 4.0 ที่เน้นการเรียนรู้หุ่นยนต์
เครื่องวัดอุณหภูมิแบบไม่สัมผัส โดยปกติในการตรวจวัดไข้ของแพทย์หรือพยาบาลจะใช้ “เทอร์โมมิเตอร์แบบปรอท” ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดที่อาศัยหลักการขยายตัวของปรอท ถ้าระดับอุณหภูมิที่วัดได้สูงกว่าระดับอุณหภูมิปกติของร่างกายคือ 37.5 องศาเซลเซียส ถือว่าผู้ป่วยมีไข้ ซึ่งการใช้งานเทอร์โมมิเตอร์แบบปรอทนั้น มีข้อเสียคือ ในการวัดแต่ละครั้งต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก เพื่อรอให้ปรอทหยุดการเปลี่ยนแปลงเสียก่อน จึงจะสามารถอ่านค่าอุณหภูมิได้ และถ้าต้องการความรวดเร็วในการวัด อาจจะไม่ได้ค่าอุณหภูมิที่แท้จริง อีกทั้งต้องมีการทำความสะอาดทุกครั้ง
ดังนั้นโครงการ FabLab จะเป็นโครงการที่ให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพทางด้านฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์ที่จะได้ค้นคว้า ออกแบบ สร้างผลงานด้านเทคโนโลยีและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งผลงานที่จะเกิดขึ้นนั้นจะสามารถนำมาใช้กับชีวิตประจำวันของมนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพในอนาคตได้อีกด้วย และผลที่ตามมานั้นจะทำให้มีนวัตกรที่มีศักยภาพผลผลิตที่ได้จะทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม