สถาบันยานยนต์ร่วมลงนามข้อตกลงกับ ทูฟ ซูด บริษัทให้บริการการทดสอบ การตรวจสอบ และการให้การรับรองมาตรฐาน (Testing , Inspection , Certification) ระดับโลกจากเยอรมนี สร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกในอาเซียน โดยมีกำหนดเปิดให้บริการทดสอบแบตเตอรียานยนต์ไฟฟ้าได้ ภายในปี 2563
ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่างสถาบันยานยนต์ และ ทูฟ ซูด เกิดขึ้นเพื่อรองรับการที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์สำคัญของโลก ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศไปแล้วทั้งหมด 8 ค่ายรถชั้นนำ อาทิ Nissan, Mercedes Benz, BMW และ FOMM เป็นต้น ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ทดสอบในครั้งนี้ จะเป็นศูนย์กลางการทดสอบวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ทั้งในประเทศและส่วนภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้ได้แบตเตอรีที่ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสากล คุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคจากสินค้าด้อยคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบุคคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้าในทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา
ทางด้าน ทูฟ ซูด นั้นเป็นบริษัทระดับโลกจากเยอรมนี ซึ่งมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมด้านการให้บริการการทดสอบ การตรวจสอบ และการให้การรับรองมาตรฐาน มานานกว่า 150 ปี โดยมีเครื่อข่ายสาขามากกว่า 1 พันแห่งทั่วโลก อีกทั้งยังมีประสบการณ์ด้านยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐานและทางด้านพลังงานทดแทน โดยบริษัท ทูฟ ซูด มีห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทดสอบของ TÜV SÜD AG ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ทั้งหมด 9 แห่งทั้งในยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศจีน
สำหรับการจัดตั้งศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในครั้งนี้ ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นฝ่ายสนับสนันงบประมาณเพื่อจัดหาเครื่องมือทดสอบและอนุญาตให้ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งภายในศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อใช้ก่อสร้างเป็นศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ฯ โดยทางสถาบันยานยนต์ และบริษัท ทูฟ ซูด จะเป็นผู้ร่วมกันให้บริการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแบตเตอรี่สำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ อาทิ แบตเตอรี่สำหรับอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage) เป็นต้น โดยทาง สมอ.จะเร่งจัดทำร่างมาตรฐานแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ตามมาตรฐาน UNECE R100 และมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในประเทศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป