กกพ. เตรียมออกประกาศผ่อนปรนกฏระเบียบการซื้อขายไฟฟ้า เปิดกว้างให้หน่วยงานรัฐและเอกชนทดสอบใช้แพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้าใหม่ในบางพื้นที่ หรือ Sandbox รับเทรนด์การผลิตไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ ทดลองใช้แฟลตฟอร์มซื้อขายพลังงานให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัด ซึ่งจะไม่มีผลออกไปกระทบการทำงาน (Operating System) ของระบบผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยภายหลังงานเสวนาเรื่อง ENERGY FOR ALL : เจาะลึก PDP 2018 ที่จัดขึ้นโดยชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่ (ชวพม.) กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ว่า กกพ. เตรียมออกประกาศผ่อนปรนกฏระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าสำหรับทดสอบซอฟแวร์ใหม่เฉพาะบางพื้นที่ หรือ Sandbox ในช่วงเดือนเมษายนนี้ เพื่อนำไปสู่การทดลองใช้แฟลตฟอร์มซื้อขายพลังงานให้อยู่ในขอบเขตที่จำกัด ซึ่งจะไม่มีผลออกไปกระทบการทำงาน (Operating System) ของระบบผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศ
“ในอนาคตไทยจะมีแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก กกพ. จึงอยากเข้าไปกำกับ เนื่องจากแพลตฟอร์มเป็นหลักการสำคัญที่จะใช้รองรับเรื่องของบิ๊กดาต้าและระบบสมาร์ทกริด (ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ) ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบการซื้อขายไฟฟ้าขนาดเล็ก จึงควรมีการศึกษาร่วมกัน”
สำหรับการจะเปิดพื้นที่ Sandbox นั้น จะมีการจัดตั้งคณะกรรรมการขึ้นมาพิจารณากำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นการออกประกาศกว้างๆ เช่น ต้องเป็นพื้นที่ที่มีการทดลองใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือมีเทคโนโลยีที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เป็นต้น โดยยกตัวอย่างเช่น โครงการนำร่องซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer ด้วยเทคโนโลยี Blackchain ในโครงการ T77 ของแสนสิริ ที่ดำเนินการโดยบริษัท พีซีจีพี จำกัด (มหาชน) นั้น ก็สามารถยื่นเข้าร่วมในพื้นที่ Sandbox ได้ เนื่องจากการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดขัดกฏระเบียบที่ยังไม่รับรองการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ๆ ซึ่งในช่วงเริ่มต้น 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ควรจะเข้ามาร่วมวิเคราะห์กำหนดพื้นที่และปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าที่เหมาะสมด้วย
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จัดกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า บริษัทพร้อมที่จะยื่นเข้าร่วมเป็นพื้นที่ Sandbox หาก กกพ. ออกประกาศผ่อนปรนกฏระเบียบต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทได้จัดทำ Multidimensional Energy Trading Platform หรือแฟลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานหลายมิติ ซึ่งผ่านการจดลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐ และสิงคโปร์ แล้ว โดยพร้อมให้หน่อยงานภาครัฐโดยเฉพาะ 3 การไฟฟ้า นำไปใช้ต่อยอดพัฒนาระบบการซื้อขายไฟฟ้าของประเทศต่อไป
“แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานจะเป็นเรื่องของการออกแบบซอฟแวร์ที่ยกระบบไฟฟ้าเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล ที่เป็นเรียลไทม์ทั้งการผลิต การใช้ไฟฟ้า การบริหารจัดการ ที่ต้องใช้เทคโนโลยี IT และ AI เข้ามาควบคุมระบบการซื้อขายไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในราคาต้นทุนที่ถูกลง” นายสมโภชน์กล่าว