What is Energy Storage System?
มากกว่า 100 ปีที่ผ่านมา พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตและถูกนำมาใช้ทั่วโลก ประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ซึ่งก็คือ ระบบผลิตไฟฟ้า (Generation) ระบบส่ง (Transmission) และกระจายไฟฟ้า (Distribution) ทุกหลังคาเรือนและอุตสาหกรรมบนโลกถูกขับเคลื่อนโดย 3 เสาหลักนี้เรื่อยมา
จนกระทั่งนวัตกรรมที่เรียกว่า ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ถูกเริ่มนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องมาจากการที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นและราคาของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium Ion Battery) ถูกลงมามาก นับว่าเป็นเสาหลักใหม่ที่ 4 ของพลังงานไฟฟ้าของโลกยุคนี้ก็ว่าได้
ระบบกักเก็บพลังงานคืออะไร?
ระบบการกักเก็บพลังงาน คือ วิธีการและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ความต้องการของระบบการกักเก็บพลังงานเกิดขึ้นมาจากการขาดสมดุลของการผลิต (Supply) และการใช้ไฟฟ้า (Demand) สาเหตุหลักเกิดมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ อย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) ที่สามารถผลิตได้ในช่วงกลางวันที่มีแสงแดด แต่กลับกันในช่วงกลางคืนที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจ่ายให้กับความต้องการช่วงกลางคืนได้ หรือแม้กระทั่งพลังงานลม (Wind Energy) ที่อาจจะผลิตไฟได้ดีตอนช่วงเช้ามืดที่มีลมพัด แต่ไม่มีความต้องการมากพอที่จะใช้ไฟในช่วงเวลานั้น จึงทำให้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตมาเสียเปล่าไป หรือไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่
โดยปกติแล้วหากไม่มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ระบบจะจ่ายกระแสไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ หมายความว่ามีความต้องการใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ ณ เวลานั้น ก็ต้องผลิตไฟฟ้าจ่ายให้ได้เท่ากันเสมอ หากขาดสมดุล ส่วนที่ผลิตเกินและจ่ายเข้าไปยังระบบจะสูญเปล่า
พลังงานที่สูญเปล่าจากส่วนเกินของการผลิตไฟฟ้าจะสามารถนำมากักเก็บในระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และสามารถนำกลับมาจ่ายให้กับระบบในเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ยังสามารถตอบสนองความต้องการของการใช้ไฟได้ทันที
ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) มีหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปตามการผลิตและใช้ไฟฟ้าของแต่ละพื้นที่ที่มีแหล่งพลังงานแตกต่างกัน แบบที่ใช้งานกันมากที่สุดคือแบตเตอรี่ (ไฟฟ้า) ปั๊มน้ำ/อ่างเก็บน้ำ (พลังงานศักย์) Flywheel (พลังงานจลน์) และ Molten Salt (ความร้อน) ปัจจุบันความท้าทายที่สำคัญสำหรับระบบการกักเก็บพลังงานหลักๆ คือ ต้นทุนที่ยังคงสูงอยู่และโครงสร้างของระบบไฟฟ้า
Energy Storage Applications นำระบบกักเก็บพลังงานไปประยุกต์ใช้อย่างไร?
ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความต้องการของระบบไฟฟ้านั้น โดยทั่วไปแล้วมีเบื้องต้น ดังนี้
- Energy Arbitrage เปลี่ยนหรือจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าในเวลาที่เหมาะสม อย่างเช่น Peak Shaving, TOU (Time of Use) Energy Management หรือการลด Demand Charge จากระบบโดยส่วนมากจะถูกนำไปใช้ในการลดค่าไฟและบริหารพลังงาน เช่น ใช้ไฟน้อยลงในเวลา On-Peak และในทางกลับกัน ใช้ไฟให้มากขึ้น ในช่วงเวลา Off-Peak
- Renewable ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) สามารถช่วยให้พลังงานหมุนเวียนเสถียรมากขึ้น และยังสามารถนำพลังงานที่ผลิตเกินกลับมาใช้ในเวลาที่ต้องการ โดยปกติแล้วมักใช้ร่วมกันกับพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) และพลังงานลม (Wind Energy)
- Frequency Regulation ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) สามารถช่วยปรับความถี่ของระบบไฟฟ้าให้เสถียรมากขึ้น ป้องกันการเกิดไฟฟ้าดับ เหมาะกับระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพต่ำ เช่น พื้นที่ห่างไกล หรือบนเกาะ
- Backup/Emergency ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) สามารถนำมาใช้สำหรับการสำรองไฟฟ้าฉุกเฉินคล้ายกันกับระบบ UPS ในเวลาที่เกิดไฟดับ
- Off Grid/Microgrid ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) สามารถนำมาใช้แบบ Standalone หรือ Islanding และยังสามารถต่อเข้ากับแหล่งผลิตหลากหลายประเภทได้ด้วย
ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย แต่หากจะนับระบบขนาดที่มีขนาดใหญ่ (Large Scale) พึ่งจะมีไม่นานมานี้ เพราะต้นทุนของระบบลดลงไปมากเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน เราจึงเริ่มเห็นโครงการใหม่ๆ ถูกพัฒนาขึ้น จากทั้งส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวงรวมไปถึงภาคเอกชนที่เริ่มมีการลงทุนและพัฒนาในระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System)
อย่างเช่น โครงการระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ขนาดใหญ่ที่พึ่งสร้างเสร็จ ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง และมีขนาดกว่า 1.5 MWh (1,500 kWh) ดำเนินการใช้งาน หรือที่เรียกว่า COD (Commercial Operation Date) ไปในช่วงปลายปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมาทั้งยังมีการใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium Ion Battery) และเทคโนโลยีการจัดการพลังงาน Energy Management System ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ที่นับว่าเป็นโครงการระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่โครงการแรกๆ ของไทย พัฒนาโดยบริษัทมหาชนชั้นนำทางด้านพลังงานร่วมกับ Hyundai Electric และ ITL Engineering
ท้ายที่สุดแล้วในปี ค.ศ. 2020 และอนาคตอันใกล้นี้จะมีโครงการระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เกิดขึ้นใหม่อีกหลายโครงการ และจะเติบโตอย่างรวดเร็วในไม่กี่ปีข้างหน้าเช่นเดียวกับการคาดการณ์อัตราการเติบโตทั่วโลกสำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) โดยส่วนใหญ่แล้วเนื่องมาจากราคาของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium Ion Battery) ที่มีแนวโน้มว่าจะลดลงไปอีกมาก อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ในประเทศไทยอาจขึ้นอยู่กับการสนับสนุนและส่งเสริมจากภาครัฐ และการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้กับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ในอนาคต อย่างเช่น เทคโนโลยี Blockchain, AI, Machine Learning, Smart Grid และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า EV Charger เพื่อก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
Energy Storage Trends
Electrification เป็นหนึ่ง MEGA Trend 2020 ซึ่งอาจจะแปลได้ว่าการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นไฟฟ้า ณ ปัจจุบันนี้ เราไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไปว่า EV (Electrical Vehicle) หรือยานยนต์ไฟฟ้าจะมาทดแทน ICE Vehicle (Internal Combustion Engine) หรือยานพาหนะเครื่องยนต์สันดาปภายในในอนาคตอันใกล้นี้
นั่นก็หมายความว่า การบริโภคพลังงานสำหรับการขนส่งทั้งหมดทั่วโลกที่เดิมทีจะใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเป็นหลัก จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในขณะเดียวกัน ความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าในอนาคตจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังไปสอดคล้องกับ MEGA Trend อีกอันหนึ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพลังงานไฟฟ้าโดยตรง นั่นก็คือ Green Energy/Renewable Energy พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน
นั้นก็หมายความว่า พลังงานทดแทน เช่น แสงอาทิตย์ (Solar Energy) และพลังงานลม (Wind Energy) จะมีความต้องการมากขึ้นด้วยเช่นกัน สรุปก็คือ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) จึงเป็นหนึ่งใน Mega Trend แห่งยุคปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
บริษัท ไอทีแอล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ โซลูชั่น จำกัด |