จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานแถลงข่าวแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือ “การดำเนินงานเครือข่ายของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” (Innovation and Technology Assistance Program: ITAP) โดยมีศาสตราจารย์ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าวการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเป็นการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) โดยมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานกลาง ในการประสานงานและบริหารจัดการ
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ และสวทช. ตระหนักถึงความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและเล็งเห็นประโยชน์ของโปรแกรม ITAP จุฬาฯ จึงตกลงร่วมมือกับสวทช. ในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์แก่ SMEs ภายใต้การดำเนินงาน “เครือข่ายโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือเครือข่าย ITAP จุฬาฯ” ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการเพิ่มโอกาสให้ทรัพยากรบุคคลของจุฬาฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสวทช.ในการนำองค์ความรู้ด้านวิชาการและเทคโนโลยีชั้นสูงถ่ายทอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและ SMEs เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs
“เนื่องจากจุฬาฯ มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในหลากหลายสาขาการร่วมมือกันจะช่วยสร้างกลไกการทำงานของมหาวิทยาลัย ที่ตอบโจทย์ความต้องการจากภาคเอกชนได้อย่างชัดเจน และครบวงจรมากขึ้น ประโยชน์ที่ภาคอุตสาหกรรมและประเทศจะได้รับคือ ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้การสนับสนุนแก้ไขปัญหาและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมหลากหลายสาขายิ่งขึ้น และมีจำนวนSMEs ที่ได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น และบันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 และมีเป้าหมายที่จะร่วมดำเนินการสนับสนุน SMEs ได้ไม่น้อยกว่า 30 รายต่อปี”
ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า สวทช. สนับสนุนงบประมาณการบริหารจัดการในการดำเนินงานเครือข่าย ITAP จุฬาฯรวมทั้งผลักดันการนำงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยสวทช. และจุฬาฯ จะช่วยกันส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยทำโครงการวิจัยพัฒนาที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนและสามารถนำไปใช้ประโยชน์สู่เชิงพาณิชย์ได้เพื่อสนับสนุนให้ SMEs จำนวนมากขึ้นได้รับการส่งเสริมสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีและเติบโตบนเศรษฐกิจฐานความรู้ พร้อมทั้งสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Tap) ของประเทศอันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศต่อไป โดยทางสวทช. จะให้ความรู้และถ่ายทอดวิธีการสนับสนุนSMEs
“เรามีการใช้โปรแกรม TAP แก่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถให้การสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปรแกรม TAP จะมีที่ปรึกษาเทคโนโลยีทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการเทคโนโลยีกับผู้ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบของการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในการพัฒนาเทคโนโลยีการแก้ปัญหาทางด้านเทคโนโลยีรวมทั้งยกระดับเทคโนโลยีการผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญจะเข้าไปให้คำปรึกษาเชิงลึกและแก้ไขปัญหาถึงในโรงงานผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการดูแลและประสานงานรายโครงการจากที่ปรึกษาเทคโนโลยีรวมถึงมีการประเมินผลและการวัดผลกระทบของโครงการเมื่อโครงการเสร็จสิ้นเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ”
ดังนั้น นี้ถือเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดแก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถพึ่งพาตนเองและมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีในทิศทางที่สอดคล้องและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์และความท้าทายใหม่ของอุตสาหกรรมในปัจจุบันภายใต้เศรษฐกิจฐานความรู้(Knowledge-Based Economy) ได้เป็นอย่างดียิ่ง และทางสวทช. เริ่มดำเนินโปรแกรม ITAP มาตั้งแต่พ. ศ. 2536 โดยให้การสนับสนุน SMEs ไปแล้วไม่น้อยกว่า 10, 000 รายปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมดำเนินงานอยู่ไม่น้อยกว่า 1, 500 รายและคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการขยายผลโครงการ ITAP ในช่วงปี 2559-2563 เพื่อสนับสนุนจำนวน SMEs ให้เพิ่มขึ้นจาก 400 รายต่อปีเป็นประมาณ 2,000 รายต่อปี