พลังงานสะอาดกำลังอยู่ในกระแสความสนใจของคนทั่วโลก ในประเทศไทยมีโครงการหนึ่งที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักถึงการใช้พลังงานสะอาดในทุกๆ อุตสาหกรรม นั่นคือ โครงการ Clean Energy for Life
Interview ฉบับนี้จะได้นำเสนอถึงความเป็นมาและเป้าหมายของโครงการ รวมทั้งโครงการ Clean Energy for Life มีความสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสะอาดในประเทศ โดยดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จะเป็นผู้ให้ความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว
สร้างการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม
แนวคิด Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน เกิดขึ้นจากความประสงค์ที่อยากสร้างการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาด ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 97(5) ที่ได้กำหนดการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้ใช้จ่าย “เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า”
กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) คำนึงถึงการสร้างการศึกษาเรียนรู้ในประเด็นด้านพลังงานที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ ปัจจุบันทุกคนกำลังเดินทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นหัวข้อหลักที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) มีหัวข้อ พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy) ซึ่ง กกพ. มองว่าเป็นเรื่องสากลที่จะทำให้เกิดพลังการสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อสังคมไทย ปีที่แล้วได้สร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผ่านกลยุทธ์การสื่อสารหลากหลายแบบ ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม จึงมองเห็นโอกาสและพร้อมที่จะต่อยอดไปสู่กลยุทธ์การสื่อสารอย่างเต็มรูปแบบเกี่ยวกับพลังงานสะอาด ในปี พ.ศ. 2563-พ.ศ. 2564 ต่อไป โดยมุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจจนก่อเกิดเป็นรูปธรรม รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่บุคคลทั่วไปด้วย
โครงการ “Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” มีวัตถุประสงค์หลักๆ 3 ประการ ดังนี้
- สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตลอดจนกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในแง่บทบาทหน้าที่ นโยบาย ประโยชน์สำหรับประชาชน ฯลฯ
- สร้างการตระหนักรับรู้และการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานทดแทนหรือแหล่งพลังงานสะอาด เช่น จากโซลาร์เซลล์ จากขยะ จากชีวมวลและจากแก๊สชีวภาพ ไปยังกลุ่มประชาชน
- ขยายผลกิจกรรมของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องพลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Power) พลังงานจากชีวมวลและชีวภาพ (Bio Energy) และพลังงานจากขยะ (Waste to Energy) โดยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสม สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เกิดความสมดุลในทุกมิติ เชื่อมโยงทุกระดับจากครัวเรือนสู่ชุมชน สู่สังคมโดยรวม และสู่ระดับโลกบนเส้นทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน
ผนึกกำลังทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อไปสู่ความสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย
เนื่องจากจุดประสงค์ 3 ประการดังกล่าว สำนักงาน กกพ. จึงให้การสนับสนุนภาคีจากภาครัฐและเอกชนรวม 25 องค์กร อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, อสมท, 2Fellows และ Tellscore เพื่อจัดทำโครงการด้านการส่งเสริมพลังงานสะอาด 26 โครงการ โดยความสำเร็จของแคมเปญในช่วงระยะเวลาการดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เกิดขึ้นจากการผนึกกำลังโดยการใช้จุดแข็งและจุดเด่นของแต่ละองค์กรที่ร่วมมือกันพา Clean Energy for Life ไปสู่ความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาด และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ตัวอย่างหนึ่งในภาคีสำคัญจากภาคเอกชนคือ บริษัท เทลสกอร์ (Tellscore) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ซึ่ง เทลสกอร์ เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการคัดสรรอินฟลูเอนเซอร์ให้ตอบโจทย์และส่งเสริมการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ เทลสกอร์มีหน้าที่ดึงพลังการสร้างสรรค์ของอินฟลูเอนเซอร์มาใช้ในการเชื่อมต่อและถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าใจง่ายให้กับประชาชนในวงกว้างผ่านโครงการมากมายอาทิ โครงการ “สร้างการตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในเรื่องของการใช้พลังงานสะอาด” เพื่อช่วยติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลนำร่องทั้ง 77 แห่งทั่วประเทศ และโครงการ “Waste Journey การเดินทางของขยะที่ทุกคนต้องรู้” เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดการสร้างขยะด้วยแนวคิด 3R และการแยกขยะอย่างถูกวิธีช่วยเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าได้
สร้างประโยชน์ในระดับโลกเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน
โครงการ Clean Energy for Life เป็นโครงการรณรงค์สื่อสารภายใต้กองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาตรา 97(5) ปี พ.ศ. 2563 ที่มุ่งหวังสร้างการตระหนักรับรู้ (Inspiration and Awareness) ความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน (Education and Understanding) มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง (Attitude) จนเข้ามามีส่วนร่วมด้านพลังงาน (Action) ของประชาชนผู้ใช้และผู้ผลิตไฟฟ้า
นอกเหนือจากความประสงค์ที่อยากให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานสะอาดแล้ว ยังต้องการสร้างการรับรู้ถึงข้อดีของพลังงานสะอาด สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการช่วยสนับสนุนการติดตั้งระบบ Solar Rooftop ให้กับโรงพยาบาลกว่า 77 แห่งทั่วประเทศไทย โดยผลสำเร็จของโครงการนี้จะสร้างประโยชน์ในหลายระดับ นอกจากจะสร้างประโยชน์ในระดับประเทศแล้ว โครงการนี้ยังนำไปสู่การสร้างประโยชน์ในระดับโลกเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งพลังงานสะอาดได้ตอบโจทย์เป้าหมายการลดปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างผลกระทบอย่างชัดเจนทั่วโลกในขณะนี้ เพราะฉะนั้นผลโดยรวมจะเป็นผลดีต่อประเทศ ต่อสังคม และทุกคน
พลังงานจากทุกแหล่งสามารถทำให้เป็นพลังงานที่สะอาดได้
พลังงานสะอาด หรือ Clean Energy ในที่นี้ หมายถึง พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากแหล่งเชื้อเพลิงชนิดใดก็ตามที่ผลิตและใช้อยู่ในปัจุบันและอนาคตและไม่ใช่แค่พลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว แม้จะเป็นพลังงานที่มาจากแหล่งฟอสซิลก็สามารถทำให้เป็นพลังงานที่สะอาดได้มากขึ้น โดยอาศัยการกำกับดูแลที่ได้มาตรฐานและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
แนวคิดได้หยิบยกประเภทพลังงานทดแทนและหัวข้อสื่อสารที่สำคัญ ที่จะแสดงถึงตัวอย่างของพลังงานสะอาดและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) พลังงานชีวมวลและชีวภาพ (Bio Energy) และพลังงานขยะ (Waste to Energy) พร้อมไปกับการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยมี กกพ. เป็น ผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานในทุกด้าน
เป้าหมายต้องให้เห็นชัดทั้งแบบรูปธรรมและนามธรรม
เป้าหมายของแนวคิด Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน มี 2 แบบ แบบนามธรรมและรูปธรรม เป้าหมายแบบนามธรรม คือ การส่งเสริมให้สังคมและประชาชนมีความรู้ ความตระหนัก และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานสะอาด โดยเน้นการสื่อสารว่าพลังงานสะอาดนั้นเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคนอย่างไร (Awareness, Understanding, Attitude) ส่วนเป้าหมายแบบรูปธรรม คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านพลังงาน (Action) ในการช่วยสนับสนุนการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาล 77 แห่งทั่วประเทศ ผ่าน “มูลนิธิแพทย์ชนบทเพื่อไฟจากฟ้า”
ต้นทุนสำหรับการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 100 กิโลวัตต์นั้น สามารถช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลได้เดือนละประมาณ 60,000 บาท ดังนั้นในระยะเวลา 1 ปี โรงพยาบาลจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าได้ราว 720,000 บาท โดยต่อ 1 โรงพยาบาลใช้งบประมาณไม่เกิน 4 ล้านบาทในการติดตั้ง และเนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งาน 25 ปี จึงสามารถช่วยโรงพยาบาลลดภาระค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 18 ล้านบาทตลอดระยะเวลาการใช้งาน โดยส่วนต่างจากการจ่ายค่าไฟที่น้อยลง สามารถนำไปจัดหาอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคนอย่างยั่งยืน
ติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด
การติดตามผลนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการภายใต้แนวคิด Clean Energy for Life ซึ่งแต่ละภาคีพันธมิตรจะมีส่วนร่วมและการดำเนินการที่แตกต่างกันออกไป แต่ว่าเป้าหมายของทุกโครงการจะตอบโจทย์แนวคิด “Clean Energy for Life การใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” และช่วยสนับสนุนการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลนำร่องทั้ง 77 แห่งทั่วประเทศ
ตัวอย่างการติดตามผลของโครงการที่จัดทำโดยบริษัท เทลสกอร์ สามารถวัดได้จากกระแสตอบรับจากยอดการเข้าถึง (Reach) ยอดผู้ชม และยอดการมีส่วนร่วม (Engagement) ของประชาชนต่อโครงการ เนื่องจากเทลสกอร์มีหน้าที่ในการเชื่อมต่อและถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานสะอาดที่ถูกต้องและเข้าใจง่าย รวมไปถึงการสื่อสารว่าพลังงานสะอาดนั้นเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคนอย่างไร ผ่านพลังการสร้างสรรค์ของอินฟลูเอนเซอร์หรือผู้มีอิทธิผลด้านการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้ในสื่อออนไลน์
ปัญหาและอุปสรรคสำคัญคือการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของประชาชน
ความท้าทายที่เจอช่วงริเริ่มโครงการคือ การปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยให้สอดคล้องกับแนวคิด Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน และการสร้างความเข้าใจในสาเหตุและผลของการสร้างประโยชน์เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านพลังงานสะอาด รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตทุกคนดีขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ประชาชนยังไม่เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านพลังงาน ประโยชน์ที่จะได้รับ และแนวทางการดำเนินงานของโครงการ จึงทำให้สำนักงาน กกพ. ตระหนักถึงการชี้แจ้งจุดประสงค์ของโครงการอย่างชัดเจนต่อประชาชน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จุดประสงค์ที่กล่าวมานี้ คือการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในแง่บทบาทหน้าที่ นโยบาย และประโยชน์สำหรับประชาชน และการสร้างการตระหนักรับรู้และการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานทดแทนหรือแหล่งพลังงานสะอาด
สร้างประโยชน์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยดีขึ้น
เนื่องจากโครงการนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 คือการเริ่มมีความตระหนักรับรู้และความเข้าใจของประชาชนต่อพลังงานสะอาด จนก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมทางสังคม สู่การปรับใช้จริงในชีวิตประจำวัน สำหรับโครงการในปี พ.ศ. 2563-พ.ศ. 2564 นี้ เราเริ่มเห็นผลสำเร็จจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสนับสนุนการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาลกว่า 77 แห่งทั่วประเทศไทย โดยยอดบริจาคขณะนี้อยู่ที่ 1,522,000 บาท หลังจากเริ่มรับการสนับสนุนมาเพียง 2 เดือนเท่านั้น
ผลสำเร็จของโครงการภายใต้แนวคิด Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน จะสร้างประโยชน์เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยดีขึ้นจากการใช้และผลิตพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้ยังนำไปสู่การเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่เข้าถึงได้ สร้างผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทุกคนในสังคมไทยจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการนำไปประยุกต์ใช้สร้างประโยชน์ในหลายระดับ นอกจากจะสร้างประโยชน์ในระดับประเทศแล้ว โครงการนี้ยังนำไปสู่การสร้างประโยชน์ในระดับโลกเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งพลังงานสะอาดได้ตอบโจทย์เป้าหมายการลดปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างผลกระทบอย่างชัดเจนทั่วโลกในขณะนี้ เพราะฉะนั้นผลโดยรวมของโครงการ Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน จะป็นผลดีต่อประเทศ ต่อสังคม และต่อตัวเราเอง
เกี่ยวกับมาตรา 97ตามพระราชบัญญัติการประกอบ กิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 97 ได้กำหนดการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้
ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินกองทุนตาม (1) (2) (3) (4) และ (5) ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ตามมาตรา 11(10) และต้องจัดมีการแยกบัญชีตามกิจการที่ใช้จ่ายอย่างชัดเจน |
Source: นิตยสาร Electricity & Industry Magazine ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563
คอลัมน์ Interview โดย กองบรรณาธิการ