กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ ERS เป็นกลุ่มที่ประกอบไปด้วยบุคคลที่มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวพันกับสาขาพลังงาน หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนมานาน ทางกลุ่มได้เปิดตัวเมื่อ 5 ปีที่แล้วโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง ทำความเข้ามจด้านพลังงาน และเสนอแนวทางการปฏิรูปพลังงานต่อสาธารณชน ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ERS ได้ดำรงบทบาทตามเป้าหมาย โดยเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง
ในวาระที่คณะรัฐบาลได้ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีกำกับดูแลกระทรวงพลังงานคนใหม่ ทางกลุ่ม ERS จึงได้ระดมแนวคิดเพื่อเสนอเป็นแนวทางในการปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน โดยทางกลุ่มจะได้ทำเป็นจดหมายเปิดผนึกยื่นให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ต่อไป
กลุ่ม ERS ได้จัดเสวนาในวาระครบ 5 ปี ในหัวข้อ “ทิศทางประเทศไทย ทิศทางพลังงานไทย” โดยมีแกนนำของกลุ่มเข้าร่วมอย่างพร้อมเพียง อาทิ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ประธานกลุ่ม ERS ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ มนูญ ศิริวรรณ และศ. ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ รวมทั้ง ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ด้วย
จากการเสวนาในครั้งนี้ สามารถสรุปได้ว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม ERS ได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ มาตลอด ทั้งการชี้แจงข้อเท็จจริงด้านพลังงาน นำเสนอ และผลักดันข้อเสนอของกลุ่ม ERS พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ประชาชน กลุ่มบุคคลและองค์กรวิชาชีพที่หลากหลาย รวมทั้งการประชุมหารือร่วมกับ คสช. ทาง คสช.ได้นำข้อเสนอหลายข้อของ ERS นำไปปฏิบัติ และยับยั้งนโยบายที่อาจส่งผลเสียต่อประเทศชาติในระยะยาว
ทางกลุ่ม ERS ได้เสนอแนวทางปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนเตรียมยื่นเป็นจดหมายเปิดผนึกแก่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใหม่ ประกอบด้วย
- การปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่ราคาพลังงานประเภทต่าง ๆ ควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
- เพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงานเพื่อมิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค
- ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้นอยู่ และป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- กระบวนการในการกำหนดนโยบาย
- การสำรวจ พัฒนา และจัดหาแหล่งพลังงาน
- การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานควรเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก และแก้ข้อสงสัยเรื่องการเอื้อประโยชน์เอกชนซึ่งบั่นทอนธณรมภิบาลภาครัฐให้เป็นวาระเร่งด่วน
ส่วนการดำเนินการของรัฐบาลในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานั้น ถือว่าได้มีการดำเนินการไปในทิศทางที่ดี อาทิ การเปิดประมูลการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 2 แหล่งใหญ่ ที่สัมปทานใกล้หมดอายุ มีการออก พ.ร.บ. กองทุนนำมันเชื้อเพลิงการแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าให้ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจ การเปิดให้บุคคลภายนอกใช้ท่อก๊าซธรรมชาติ และลดการถือหุ้นของ ปตท. ในโรงกลั่นน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ภาคพลังงานของไทยยังมีปัญหาหลายประการที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข อาทิ เรื่องธรรมาภิบาลด้านบริหารจัดการนโยบายพลังงานที่มีการอนุมัติเอกชนบางรายสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยไม่มีการประมูล หรือการเปิดประมูลสร้งท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ที่มีการเพิ่มคลังรับก๊าซ LNG โดยไม่เชื่อมโยงกับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ที่สอดคล้องกับแผน PDP 2018 นอกจากนั้นปัญหาการอุดหนุนราคาพลังงานบางประเภทแบบ Cross Subsidies ในระดับสูง ซึ่งดูแล้วไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคบางส่วน และไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในส่วนของเชือ้เพลิงชีวภาพที่ต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่ ซึ่งการดำเนินการนั้น หากรัฐบาลจะใช้ดุลยพินิจใด ๆ ก็ควรมีคำอธิบายที่ชัดเจน โปร่งใส ชี้ชัดให้เห็นถึงประโยชน์ที่ส่วนรวมจะพึงได้ รวมทั้งการประกาศเงื่อนไขการประมูล (TOR) ก็ควรมีความเป็นกลาง เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม
ในด้านธรรมภิบาลนั้น กลุ่ม ERS ได้เสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร อาทิ แก้ไข พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 เพื่อแยกการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลและการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างแท้จริงเหมือนในประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาแล้ว และการเปิดให้บุคคลอื่นได้ใช้ระบบท่อก๊าซ ปตท. ก็เป็นแนวโน้มที่ดีเพื่อให้เกิดการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์จาการแข่งขัน เพื่อมีการแข่งขันก็จะทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำลง ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ส่วนการปรับโครงสร้าง กฟผ. กลุ่ม ERS เสนอว่า กฟผ. ยังคงควบคุมระบบสายส่ง ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และให้จัดกลุ่มโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ของ กฟผ. ให้เป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อเตรียมพร้อมรับการแข่งขันกับเอกชน และต้องเป็นการแข่งขันที่โปร่งใส และเปิดกว้าง ขณะเดียวกัน การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก็ต้องเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กลุ่ม ERS เห็นว่า รัฐบาลควรใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรักษาสเถียรภาพของราคาขายปลีกในประเทศเฉพาะเมื่อวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลก และต้องใช้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ การส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ควรส่งเสริมให้น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 กับน้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหลักของประเทศ ไม่ให้มีน้ำมันหลากหลายมากเกินไป และควรยกเลิกการอุดหนุนแบบถาวรในน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพชนิด E85 และB20 เนื่องจากไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคกลุ่มอื่นที่ต้องร่วมรับภาระจ่ายเงินเข้ากองทุน รวมทั้งเป็นการไม่ส่งเสริม ให้ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตนเองให้แข่งขันได้ด้วย
นอกจากนี้การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนในทะเลก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐควรทำอย่างจริงจังและให้เห็นผล เพราะบริเวณนี้จะมีแก๊สธรรมชาติจำนวนไม่น้อย หากมีการดำเนินการอย่างจริงจังน่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศแน่นอน
สุดท้ายกลุ่ม ERS ได้ย้ำว่า การกำหนดนโยบายต่าง ๆ นั้นควรมีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่หลากหลายเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายด้วย ควรมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์อย่างแท้จริงมามีส่วนร่วมเพื่อสะท้อนภาพจริงด้านพลังงานของประเทศ การสรรหาบอร์ดรัฐวิสาหกิจควรมีคณะกรรมการสรรหาที่เป็นระบบ มีการกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจน สรรหาอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการแต่งตั้งบอร์ดในรัฐวิสาหกิจต้องไม่ทับซ้อน ไม่แต่งตั้งข้าราชการที่ดูแลหน่วยงานนั้น ๆ เข้าไปเป็นบอร์ด รวมทั้งบอร์ดต้องไม่รับค่าตอบแทนที่มากเกินไป หรือหากจำเป็นต้องรับเพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎระเบียบหน่วยงาน ก็ควรส่งคืนค่าตอบแทนนั้นให้แก่ภาครัฐ นอกจากนั้นควรมีกลไกตรวจสอบการโยกย้ายข้าราชการด้วย หากมีการร้องเรียนก็สามารถอธิบายถึงเหตุผลในการโยกย้ายได้