กฟผ. เร่งเดินหน้า โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี หนุนเทรนด์
พลังงานสะอาดโลกเต็มที่ ประเดิมทดสอบขนานเครื่องเข้าระบบครั้งแรกในวันพรุ่งนี้ คาดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ ต.ค. 64 พร้อมเร่งทำเส้นทางชมธรรมชาติ จุดเช็คอินใหม่รับนักท่องเที่ยวต้นปีหน้า
ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร
จ.อุบลราชธานี (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กับทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรครบทั้งหมด 7 ชุด พร้อมติดตั้ง
ทุ่นคอนกรีตของระบบยึดโยงใต้น้ำและก่อสร้างอาคารสวิตช์เกียร์แล้วเสร็จ โดยจะเตรียมทดสอบขนานเครื่องกําเนิดไฟฟ้าเข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าครั้งแรก (First Synchronization) ในวันพรุ่งนี้ คาดจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ได้ในเดือนตุลาคม 2564
พร้อมกันนี้ กฟผ. ยังเร่งมือสร้าง “เส้นทางเดินชมธรรมชาติ หรือ Nature Walkway” เพื่อเป็นจุดเช็คอินและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี สามารถชมโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกในมุมสูงอย่างใกล้ชิด อยู่ระหว่างปรับภูมิทัศน์รอบพื้นที่ รวมถึงก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์สำหรับให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวก่อนเดินชม เตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในเดือนมกราคม 2565 คาดว่าจะช่วยเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคัก ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งในช่วงของการก่อสร้าง กฟผ. ได้จ้างผู้ประกอบการแพท่องเที่ยว เรือ และเจ็ตสกีจากชุมชนรอบพื้นที่มาใช้ในงานก่อสร้าง รวมถึงเช่าแพเพื่อเป็นที่พักให้กับคนงาน ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในช่วงที่นักท่องเที่ยวลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
รวมแล้วคิดเป็นมูลค่าการจ้างงานในพื้นที่ทั้งหมดกว่า 30 ล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดได้เป็นอย่างดี
สำหรับโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ถือเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่ไฮบริดกับพลังน้ำจากเขื่อน ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดร่วมกันระหว่าง “พลังงานแสงอาทิตย์” และ “พลังน้ำ” โดยโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวันที่มีปริมาณความเข้มของแสงเพียงพอ และนำพลังน้ำมาผลิตไฟฟ้าเสริมในช่วงที่ความเข้มแสงไม่เพียงพอหรือในช่วงกลางคืน ช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนที่ปกติแล้วจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องยาวนาน
โรงไฟฟ้าฯ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยใช้พื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ผิวน้ำไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิดกระจกทั้งสองด้าน (Double Glass) สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ นอกจากนี้ ได้ติดตั้งทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับท่อส่งน้ำประปา จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ ที่สำคัญ การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จะช่วยลดการปล่อย
ก๊าซเรือนกระจก (CO2) ได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี ซึ่งมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาภาวะโลกรวน ให้กับโลก
ทั้งนี้ กฟผ. ยังเตรียมพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. อีกหลายแห่งทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมกำลังผลิตทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ รวมทั้งอยู่ในช่วงพิจารณาศักยภาพเพิ่มเติมอีกกว่า 5,000 เมกะวัตต์ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของ กฟผ. ในการก้าวเข้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริงในอนาคต