สมาคม AIEAT และ AIAT ผนึกกำลัง สวทช. และ SCBX แถลงความพร้อมจัดงาน AI THAILAND FORUM 2024 ภายใต้แนวคิด “Sustainable Growth with AI”


สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) และ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) แถลงข่าวการจัดงาน AI THAILAND FORUM 2024 ภายใต้แนวคิด “Sustainable Growth with AI ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยปัญญาประดิษฐ์” ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนาและสนับสนุนการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืนทั้งในภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2567 ณ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ โอกาสนี้ผู้บริหารหน่วยงานสำคัญที่ร่วมสนับสนุนการจัดงานฯ ร่วมแถลงข่าวและเสวนาในหัวข้อ “Sustainable Growth with AI: ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยปัญญาประดิษฐ์”

ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) กล่าวว่า การจัดงาน AI THAILAND FORUM 2023 ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างสูงจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย สำหรับสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศผ่าน “โครงการ Super AI Engineer” ซึ่งปัจจุบันดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 3,000 คน สามารถสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงกว่า 600 คน โดยโครงการฯ ได้ออกแบบหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติจริงและเหมาะสมกับผู้เรียนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อีกทั้งยังมีหลักสูตรสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ในทุกระดับอย่างยั่งยืน

ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) กล่าวว่า AI Thailand Forum 2024 จะเป็นเวทีสำคัญในการแสวงหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศโดยสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย มุ่งเน้นการเสริมสร้างความสามารถและศักยภาพให้กับผู้ประกอบการทุกระดับให้สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการต่าง ๆ พร้อมให้คำปรึกษา การฝึกอบรม ไปจนถึงการสนับสนุนแหล่งเงินทุนและการเข้าถึงเครือข่ายธุรกิจ อีกทั้งภายในงานได้จัดพิธีมอบรางวัลให้กับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูความสำเร็จ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักพัฒนาทุกท่านในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป”

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.)กล่าวว่า ตามที่กระทรวง อว. ประกาศนโยบาย “อว. for AI” โดยใช้ศักยภาพด้าน AI ของกระทรวง อว. มาแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและการประยุกต์ใช้ AI โดยดำเนินงานใน 3 เสาหลัก ได้แก่ 1. AI for Education: การใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุด และเร็วที่สุด 2.AI workforce development: การพัฒนาบุคลากรด้าน AI และการสร้างพื้นฐานด้าน AI ให้คนไทยในระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน 3. AI innovation: การสนับสนุนนวัตกรรม AI สู่ตลาด การพัฒนามาตรฐานและทดสอบ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความแพร่หลายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย สวทช. ในฐานะเลขานุการร่วมของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้รับบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570)

เพื่อสร้างและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ นําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนนโยบาย อว. For AI อีกด้วย ทั้งนี้จากบทบาทและวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศบนฐานของ AI ที่สอดรับกับแนวคิดการจัดงาน AI Thailand forum 2024 “Sustainable Growth with AI ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยปัญญาประดิษฐ์” จึงเป็นโอกาสอันดีที่ กระทรวง อว. โดย สวทช. จะร่วมนำเสนอความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ AI ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ  เช่น ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการพัฒนากำลังคน ด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ เป็นต้น

กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Head of SCBX R&D Innovation Lab)บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมาก การสร้างระบบนิเวศ AI ที่แข็งแกร่งจึงเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม AI เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดย SCBX มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบนิเวศ AI ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยล่าสุดได้เปิดตัว “Typhoon” Large Language Model สำหรับภาษาไทย ให้ใช้งานได้ฟรี โดยเป็นโมเดลเวอร์ชันพื้นฐานที่สามารถนำไปปรับแต่งและใช้งานต่อยอดได้ตามต้องการ หรือการร่วมมือกับพันธมิตร และให้ทุนสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง และการร่วมมือกับ AIAT, AIEAT และ สวทช. ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศ AI ของประเทศ SCBX เชื่อมั่นว่าการบูรณาการระบบนิเวศ AI จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศไทยในอนาคต SCBX พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ให้นักวิจัย Startup คนไทย และนักลงทุนสามารถสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งและยั่งยืนได้ในอนาคต


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save