ตามที่ Electricity & Industry ได้นำเสนอข่าว กกพ. รุกเจรจากับราชบุรีโฮลดิ้ง ผุดโรงไฟฟ้าใหม่ภาคตะวันตก ไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ล่าสุด ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ เตรียมเสนอแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2 โรง โรงละ 700 เมกะวัตต์ เพื่อให้ กกพ. พิจารณาเงื่อนไขในเร็วๆ นี้ มั่นใจมีศักยภาพ พร้อมกดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ต่ำ และเสร็จทันไฟเข้าระบบตามกำหนดปี 2567-2568 เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะสิ้นสุดอายุลงในปี 2563
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมส่งแผนการดำเนินงานสำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ภาคตะวันตกจำนวน 2 โรงขนาดกำลังการผลิตโรงละ 700 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ให้กับคณะกรรมกรกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาในเร็วนี้
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กกพ. ได้ประสานงานมายังบริษัท เพื่อดำเนนการเจรจาตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มอบหมายให้ กกพ. เจรจากับผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ที่กำลังจะหมดสัญญาลงในปี 2563 ซึ่งทางบริษัทฯ มีความมั่นใจที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 2 แห่ง ใน จ.ราชบุรี ให้แล้วเสร็จได้ทันตามกำหนดที่จะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567-2568 ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2589 (PDP 2018) หรือแผนพีดีพีฉบับใหม่ โดยโรงแรกกำหนด COD ในปี 2567 และโรงที่สอง COD ในปี 2568 รวมถึงมั่นใจสามารถจัดหาปริมาณก๊าซธรรมชาติได้เพียงพอที่จะป้อนโรงไฟฟ้าดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะได้รับให้เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าภาคตะวันตกทั้ง 2 โรงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ กกพ. เป็นผู้กำหนด ทั้งนี้หลังบริษัทฯ ส่งแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งกลับไปให้ กกพ. พิจารณาแล้ว จะต้องรอพิจารณาเรื่องเงื่อนไขและรายละเอียดทั้งหมด ทั้งอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม ที่จะต้องสามารถแข่งขันได้และไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในอนาคต
ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง จะมีการหาพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมดำเนินการโรงไฟฟ้าด้วยหรือไม่ ยังต้องพิจารณาในหลายปัจจัย เพราะมีเรื่องของการใช้ก๊าซ เป็นเชื้อเพลิงเข้ามาประกอบด้วย
สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง จะสร้างในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งมีพื้นที่เพียงพอ และอยู่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าเดิมของบริษัท ที่กำลังจะหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในช่วงเดือนกรกฏาคม 2563 โดยโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้หลังหมดสัญญา บริษัทมีทางเลือกคือเก็บไว้เพื่อใช้เป็นโรงไฟฟ้าเครื่องสำรอง หรืออาจขายโรงไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยคงเป็นลักษณะการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ