IP Core Network พัฒนาโครงข่ายระบบสื่อสาร เพื่อรองรับระบบงานของ PEA ในอนาคต


IP Core Network พัฒนาโครงข่ายระบบสื่อสาร เพื่อรองรับระบบงานของ PEA ในอนาคต

การไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ก็เหมือนรอเวลาให้จุดจบเดินทางมาถึงอย่างช้าๆ โดยเฉพาะในยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งอาจทำให้สิ่งที่เคยตอบสนองความต้องการนั้นไม่ได้เป็นที่ต้องการอีกแล้ว การพัฒนาและก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจในยุคนี้

ดังนั้นเพื่อให้การทำงานตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งธุรกิจพลังงานระบบการทำงานที่มีความซับซ้อนขึ้น ตลอดจนรองรับธุรกิจใหม่และธุรกิจเสริม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จึงต้องพัฒนาโครงข่ายสื่อสารหลัก ‘IP Core Network’ ให้มีทั้งเสถียรภาพประสิทธิภาพสูง เพื่อทดแทนระบบสื่อสารเดิมที่ไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานของ PEA ได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ยังเป็นการรองรับการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็น Digital Utility อีกด้วย

เทคโนโลยี SDH จุดเริ่มต้นโครงข่ายสื่อสารอันทันสมัย

พ.ศ. 2545 PEA เริ่มติดตั้งอุปกรณ์และวางโครงข่ายสื่อสารเคเบิลใยแก้วนำแสง เพื่อรองรับโครงการควบคุมการสั่งจ่ายไฟฟ้า (SCADA) พื้นที่ภาคกลาง 5 แห่ง

พ.ศ. 2546 ใช้เทคโนโลยี SDH หรือ Synchronous Digital Hierarchy เพื่อรองรับการสื่อสารระหว่างสถานีไฟฟ้าและสำนักงานการไฟฟ้าไปยังศูนย์สั่งการระบบไฟฟ้า เนื่องจากมีความเหมาะสมกับระบบควบคุมที่ต้องการสั่งงานในลักษณะ Real-Time และมีช่องสัญญาณเฉพาะ ทั้งยังถูกใช้เชื่อมโยงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของ PEA เข้าด้วยกัน รวมถึงระบบสื่อสารทางภาพและเสียงด้วย

พ.ศ. 2550 PEA ได้ขยายโครงข่ายระบบสื่อสารผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงไปยังภูมิภาคอื่นๆ จนครอบคลุมทั้งประเทศ ทำให้โครงข่ายระบบสื่อสารครอบคลุมทั่วประเทศ โดยยังคงใช้โครงข่ายหลัก SDH เหมือนเดิม แต่เป็นรุ่นที่มีความทันสมัยมากขึ้น จนโครงข่ายครอบคลุมสถานีไฟฟ้าครบถ้วนทุกสถานี และครอบคลุมสำนักงานการไฟฟ้า ชั้น 1, 2 และ 3 และบางส่วนของการไฟฟ้าชั้น 4 ด้วยโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงความยาวกว่า 20,000 กิโลเมตร และอุปกรณ์โนด (Node)SDH มากกว่า 1,000 โนด หรือ 1,000 แห่งพ.ศ. 2556 SDH ใช้งานมาครบ 10 ปี ซึ่ง PEA ตั้งใจจะไม่ลงทุนขยายโนดของ SDH ซึ่งหมายถึงการขยายจุด แต่ยังมีการปรับปรุง SDH ในบางจุดที่ยังมีความจำเป็น เพื่อให้สามารถใช้งานโครงข่ายได้ถึง พ.ศ. 2565 ก่อนจะทยอยเปลี่ยนให้เป็นโครงข่าย IP Network ทั้งหมด

จากยุค SDH Network สู่ IP Core Network

โครงข่าย SDH ในระยะเริ่มต้นถูกออกแบบมาเพื่อให้รองรับระบบควบคุมและสั่งการสถานีไฟฟ้าเป็นหลัก แต่ทว่าในช่วงหลังๆ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ปริมาณการใช้งานรับ-ส่งข้อมูลและติดต่อสื่อสารผ่านโครงข่ายสื่อสารของ PEA เพิ่มขึ้นอย่างมากและ SDH ไม่สามารถรองรับการทำงานได้เพียงพอ PEA จึงต้องปรับเปลี่ยนโครงข่ายสื่อสารหลักมาเป็น IP เพื่อให้รองรับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเชื่อมโยงระบบสารสนเทศและระบบงานต่างๆ ของ PEA เช่น PEA Wi-Fi ระบบ Internet/Intranet ระบบ SAP ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ GIS ระบบ Voice Over IP ระบบ Video Conference ระบบควบคุมการจ่ายไฟ หรือ SCADA/DMS ระบบสื่อสารภายในสถานีไฟฟ้า ระบบ Digital Radio ระบบโทรศัพท์ภายใน ฯลฯ

ประโยชน์ที่ได้รับจากการเปลี่ยนมาใช้ IP Core Network

  • เป็นการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ซึ่งมีความมั่นคงของโครงข่ายมากกว่าราคาอุปกรณ์ถูกกว่า โครงข่ายเดิมทันสมัยกว่า รองรับการสื่อสารความเร็วสูง เหมาะสมกับการใช้งานของพนักงาน PEA ในปัจจุบันและอนาคต
  • รองรับปริมาณการรับ-ส่งข้อมูลที่มีการขยายตัวและมีความซับซ้อนได้ดีขึ้น เนื่องจากมีการออกแบบโครงข่ายและการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จึงทำให้พนักงาน PEA สื่อสารได้สะดวกไม่ติดขัดและรวดเร็ว
  • การสื่อสารของ PEA ทั้ง Data Center ระบบ SCADA ใหม่ รวมถึงระบบงานใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ Smart Grid หรือสถานีไฟฟ้า IEC 61850 จะรับ-ส่งข้อมูลในโครงข่าย IP Core Network เป็นการปรับกระบวนการสื่อสารให้ทันสมัยทั้งระบบ
  • รองรับการทำงานของสถานีไฟฟ้าที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าได้ดี ทันสมัย เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของผู้ใช้ไฟฟ้ายิ่งขึ้น

IP Core Network

IP Core Network โครงข่ายสื่อสารที่ตอบโจทย์การทำงานได้มากกว่า

ตามแผนงานการพัฒนาระบบ ศูนย์สั่งการการจ่ายไฟ (SCADA) ระบบ Smart Grid และระบบสารสนเทศของสำนักงาน PEA ทำให้ต้องใช้โครงข่ายระบบสื่อสารที่มีความเร็วสูงครอบคลุม และเป็นแบบ IP เพิ่มขึ้นอย่างมาก PEA จึงทำการปรับเปลี่ยนสู่โครงข่ายสื่อสารใหม่ คือ IP Network ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ Core Network (โครงข่ายหลัก) และ Access Network (โครงข่ายย่อย) ซึ่งเริ่มต้นพัฒนาและปรับปรุงตั้งแต่ พ.ศ. 2556 โดยให้ระบบที่เชื่อมต่ออยู่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

การเปลี่ยนแปลงสู่ IP Network ตาม Roadmap การพัฒนาโครงข่ายสื่อสารในระยะแรก เป็นการติดตั้ง Core Router จำนวน 24 โนด หรือ 24 แห่งในการไฟฟ้าเขตทั้ง 12 เขต สำนักงานใหญ่และระหว่างทางอีก 12 แห่ง ด้วยความเร็ว 10 กิกะบิต (Gigabit) ต่อวินาที โดยมี Core Router เป็นอุปกรณ์ในการรับ-ส่งสัญญาณที่จะส่งผ่านทางเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable) แต่ด้วยความที่ Core Router อยู่ไกลกัน จึงต้องอาศัยเทคโนโลยี DWDM เป็นตัวกลางในการส่งสัญญาณระยะไกลจาก Core Router ตัวหนึ่งถึงอีกตัวหนึ่ง เนื่องจากความสามารถการส่งสัญญาณของ Router ถึง Router มีระยะทางจำกัดได้เพียง 40-60 กิโลเมตร แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีโครงข่าย DWDM เข้ามาช่วยจะสามารถส่งสัญญาณได้ไกลนับพันกิโลเมตรเลยทีเดียว การทำงานร่วมกันของโครงข่าย Core Router และ DWDM จึงเรียกว่า ‘IP Core Network’ อันจะเป็นโครงข่ายหลักของ PEA ที่เปรียบได้กับการสร้างถนนมอเตอร์เวย์ที่ตัดผ่านไปยังเมืองใหญ่ๆ ที่รองรับความเร็วสูง ช่วยแก้ปัญหาการจราจรหรือความหนาแน่นของระบบและแอปพลิเคชันต่างๆ ที่จะเข้ามาวิ่งอยู่บนโครงข่ายเดียวกันนี่เอง ขณะเดียวกัน PEA ได้ขยายโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงออกไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีระยะทางกว่า 38,000 กิโลเมตร ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ที่จะให้การทำงานทุกระบบของ PEA ต่อเนื่อง ไม่สะดุด จึงมีความมั่นคงสูง และสามารถรองรับรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ในอนาคต

หาก Core Router ทั้ง 24 โนด สำคัญในภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ เปรียบเป็นถนนมอเตอร์เวย์ที่จะให้รถหรือข้อมูลผ่านได้สะดวกและไม่สะดุด การติดตั้งโครงข่าย ‘IP Access Network’ สำหรับเชื่อมโยงข้อมูลภายในภูมิภาค ภายในการไฟฟ้าและเขตก็เหมือนการสร้างทาง ถนนสายย่อย ทางลอด เพื่อเชื่อมระบบต่างๆ ให้สามารถทำงานไปด้วยกันได้

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาการพัฒนา IP Core Network ช่วงแรก โครงข่าย SDH จะยังถูกอัปเกรดให้รองรับการทำงานอย่างเต็มที่จนกว่าจะถูกแทนที่ด้วย IP Network ทั้งหมดใน พ.ศ. 2565

แม้ว่าการขยายโครงข่ายครั้งนี้เป้าหมายหลักจะเกี่ยวข้องกับระบบภายในองค์กร เพื่อให้ระบบการทำงานมีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ แต่ปลายทางก็ยังคงเป็นการพัฒนาเพื่อมุ่งมั่นให้บริการพลังงานไฟฟ้า และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน


Source: นิตยสาร Electricity & Industry Magazine ปีที่ 27 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-สิงหาคม 2563
TESIA สมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save