เพื่องานสื่อสารที่มั่นคงขององค์กร
ยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทกับการดำรงชีวิต มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยเหลือในการทำงานอย่างหลากหลาย PEA ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และได้นำมาปรับใช้ในส่วนงานต่างๆ รวมถึงงานด้านโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม
การดำเนินงานด้านสาธารณูปโภคระดับประเทศของ PEA มีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงหลายกลุ่มงาน กองบริหารเครือข่ายสื่อสารฝ่ายสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการ ดูแล บำรุงรักษา ตรวจซ่อมโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง จึงได้พัฒนาระบบจัดการโครงข่ายสื่อสารแบบบูรณาการ (Integrated Network Management System : INMS) ขึ้น เพื่อช่วยเหลือในการทำงาน การแก้ปัญหาได้แม่นยำเมื่อเกิดข้อผิดพลาด ขณะเดียวกันก็เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านโครงข่ายการสื่อสารคมนาคมในอนาคต
เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ความพิเศษของระบบนี้ คือถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการโครงข่ายระบบสื่อสารและอุปกรณ์การสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต วิทยุ โทรทัศน์ โดยทำงานในลักษณะของการรวมศูนย์การบริหารจัดการ และการสั่งการจากศูนย์ควบคุมบริหารจัดการระบบโครงข่ายสื่อสาร (Network Operation Center : NOC) ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการที่มีการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง คอยรับแจ้งเหตุเสียและฉุกเฉินจากเจ้าหน้าที่หน้างาน แก้ไขปัญหา ประสานงานและส่งต่อการแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปแก้ไขได้ทันท่วงที พร้อมติดตามการแก้ไขปัญหา หรือข้อมูลสถานะด้วยระบบการทำงานที่เป็นมาตรฐาน รวมถึงรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลด้านสถิติระบบโครงข่ายสื่อสาร
มีอะไรในระบบ INMS
ภายในระบบ INMS ประกอบไปด้วยระบบย่อยที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน ทว่าทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้อง ประกอบไปด้วย
ระบบบริหารจัดการแก้ไขข้อผิดพลาดของโครงข่าย (Fault Management System : FMS)
เป็นศูนย์กลางในการรวบรวม Alarm และ Fault จากอุปกรณ์ และระบบย่อยต่างๆ ในโครงข่ายสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ภายในของ PEA
- เฝ้าระวัง วิเคราะห์ข้อมูล กลไกภายในระบบ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทราบเหตุผิดพลาดได้อย่างแม่นยำ
- ส่งข้อมูลไปยังระบบ Trouble Ticket System เพื่อเปิดใบงาน (Ticket)
- กรณีปัญหาโครงข่ายมีความซับซ้อน เจ้าหน้าที่จะวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงโดยอาศัยเครื่องมือต่างๆ
ระบบแสดงสถานะภาพรวมโครงข่ายสื่อสาร (Dashboard)
- ทำให้ผู้ดูแลเห็นภาพรวมของโครงข่ายสื่อสาร จากการนำข้อมูลจากระบบต่างๆ เช่น FMS, PMS และ TIMS มาเชื่อมโยงและแสดงผลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์พกพา
- สามารถติดตามสถานะของโครงข่ายและสถานะการตรวจซ่อมบำรุงรักษาได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ
ระบบบริหารจัดการประเมินผลประสิทธิภาพของโครงข่าย (Performance Management System : PMS)
รวบรวมข้อมูลด้านประสิทธิภาพของโครงข่ายสื่อสารเพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบกับค่าประสิทธิภาพมาตรฐาน เช่น ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูล ก่อนจะแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลระบบ
ระบบจัดการการแจ้งปัญหาและบริหารงานบริการสื่อสาร (Trouble Ticket System & Telecommunication Services Management System : TTS & TSMS)
- ดูแลเหตุชำรุด ตั้งแต่การรับแจ้ง บันทึก ส่งต่อการแก้ไขปัญหาจนกระทั่งปิดเหตุและการแจ้งกลับ
- จัดทำรายงานเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนการรับมือในอนาคต ตลอดจนการขอบริการใหม่ การเปลี่ยนแปลงบริการการควบคุมจัดการการปรับเปลี่ยน Configuration ของโครงข่ายทั้งจากลูกค้าและผู้ใช้บริการ ตลอดจนการซ่อมเปลี่ยนจากการบำรุงรักษา
- ผู้เกี่ยวข้องในระบบนี้สามารถแจ้งสถานะงาน ติดตามงาน และประเมินผลได้ในคราวเดียวกัน
ระบบเฝ้าระวังโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงระยะไกล (Remote Fiber Management System : RFMS)
- เฝ้าระวังโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่มีระยะทางมากกว่า 32,700 กิโลเมตร ตลอด 24 ชั่วโมง
- หากเกิดสายขาด การชำรุด ระบบ RFMS จะทำงานร่วมกับระบบ GIS for OFM แสดงตำแหน่งที่เกิดเหตุได้อย่าง
รวดเร็ว แม่นยำ - ช่วยลดเวลาในการหาตำแหน่งชำรุดที่เกิดขึ้นของเจ้าหน้าที่
ระบบบริหารจัดการทรัพย์สิน โครงข่ายสื่อสาร (Telecom Inventory Management System : TIMS)
- เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลทรัพยากรของอุปกรณ์โครงข่ายสื่อสาร
- ทำให้ทราบถึงสถานะล่าสุดของอุปกรณ์ ปริมาณการใช้งาน เป็นต้น
ระบบภูมิสารสนเทศสำหรับบริหารจัดการโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Geographic Information System for Optical Fiber Management : GIS for OFM)
- ขนาดของสายเคเบิล เส้นทางการเชื่อมต่อตำแหน่งจุดเชื่อมต่อ ท่อร้อยสาย บ่อพัก รูปแบบการติดตั้งในสถานี
- ช่วยวางแผนออกแบบโครงข่าย
- วิเคราะห์ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถคาดการณ์ ป้องกันและจัดการกับข้อผิดพลาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ห้องศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายสื่อสาร (Network Operation Center : NOC)
- ศูนย์กลางควบคุมและบริหารจัดการระบบโครงข่ายสื่อสาร
- เฝ้าระวังเหตุเสียและฉุกเฉินจากระบบ Fault Management
- รับแจ้งเหตุเสียและเหตุฉุกเฉินจากเจ้าหน้าที่หน้างาน
- แก้ไขปัญหา ประสานงาน และส่งต่อการแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติด้านระบบโครงข่ายสื่อสาร
ระบบตรวจสอบสถานะสภาพแวดล้อมห้องสื่อสาร (Environment and Facility Management System : EFMS)
- จับตาสภาพแวดล้อมในห้องสื่อสาร
- เมื่อพบความผิดพลาด จะส่งข้อมูลกลับมายังห้องศูนย์ NOC ทำให้สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว
จะเห็นว่าระบบจัดการโครงข่ายสื่อสารแบบบูรณาการนี้ นอกจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบการสื่อสารโทรคมนาคมของ PEA แล้ว ยังช่วยลดภาระแก่เจ้าหน้าที่ในการดูแลและสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะยาว