สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง จัดเสวนายานยนต์ไฟฟ้าและโอกาสทางธุรกิจในอนาคต


สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นำโดย กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยคุณจาตุรนต์ โกมลมิศร์ รองประธานจัดงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่แนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 กล่าวเปิดงานเสวนา “ยานยนต์ไฟฟ้าและโอกาสทางธุรกิจในอนาคต” ซึ่งจัดขึ้นตั้งเเต่เวลา 13:00-15:00 น. ณ ห้องประชุมจูปิเตอร์ 4 ศูนย์เเสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งภายในงานเสวนา ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง และผู้จัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 ได้นำผู้บริหารจากองค์กรต่างๆ ได้แก่ คุณจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจการไฟฟ้านครหลวง บรรยายในหัวข้อ ชาร์จไฟให้ประหยัดและปลอดภัยกับ MEA , คุณกฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด ร่วมบรรยายในหัวข้อ ธุรกิจ Car Sharing , คุณพูนพัฒน์ โลหารชุน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด บรรยายในประเด็น ธุรกิจ Charging Station, คุณสุรเดช พานิช ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล บริษัท ซันเดย์ อินส์จำกัด บรรยายในหัวข้อ ธุรกิจประกันภัยยุคใหม่ที่ใช้ระบบ AI และคุณปริญ กัญจนาทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเนอร์ยี่ซัน จำกัด บรรยายในหัวข้อ ธุรกิจการติดตั้ง โซลาร์เซลล์และกรีนเอเนอร์ยี่ โดยมีคุณกฤษดา ธีรศุภลักษณ์ จากช่อง Welldone Guarantee เป็นผู้ดำเนินรายการในงานเสวนา

จาตุรนต์ โกมลมิศร์

จาตุรนต์ โกมลมิศร์ รองประธานจัดงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวเปิดงานเสวนาว่า “สำหรับประเทศไทยเองนั้นภาครัฐได้มีการประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งนับว่ายังมีความท้าทายอย่างมาก เพราะการที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ทุกๆภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันใช้พลังงานสะอาด ทั้งในภาคการผลิตและการคมนาคม ทั้งนี้ในการจัดงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่ารถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจมากขึ้น ประกอบกับการขยายตัวเพิ่มขึ้นของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ ที่มาเข้าร่วมงาน ในมุมมองของผู้จัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ เราเชื่อมั่นว่าการให้ความรู้ด้านโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในพันธกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ และเพื่อสร้างโอกาสในด้านธุรกิจใหม่ๆให้ผู้ที่สนใจไปพร้อมๆกัน”

กฤษฎา อุตตโมทย์

ด้าน กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า “ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย มีพันธกิจ ที่มุ่งพัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยมีความร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมกับยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี ค.ศ. 2022 อยู่ที่ราว 10.6 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 60% ถ้าเทียบกับปีก่อนหน้า ในส่วนของรถยนต์สันดาปภายในทั่วโลกอยู่ที่ 63.2 ล้านคัน หากเทียบกับยอดจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายใน ปี ค.ศ. 2017 อยู่ที่ 85 ล้านคัน เพราะฉะนั้นเราเห็นเทรนด์การใช้รถยนต์สันดาปภายในลดลง และหากดูจากสัดส่วนของปีที่เเล้ว 7 ต่อ 1 รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 1 ใน 7 คันคือรถยนต์ไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่เเล้ว ดังนั้นทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนด้วยรถยนต์พลังงานสะอาด โดยมีกรรมการและสมาชิกของสมาคมมาร่วมทำงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าทั้ง ในด้านการศึกษา การสนับสนุนด้านความรู้แก่ผู้บริโภค และการพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

จาตุรงค์ สุริยาศศิน

เริ่มต้นงานเสวนาด้วย จาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจและบริการ การไฟฟ้านครหลวง บรรยายในหัวข้อ ชาร์จไฟให้ประหยัดและปลอดภัยกับ MEA กล่าวว่า “MEA พร้อมขับเคลื่อนตามแผนงานด้านพลังงานของรัฐบาล ซึ่งได้มีการออกแบบระบบ Smart Charging สำหรับบ้านอยู่อาศัย เพื่อลดปัญหาการเกิด Overload ของระบบจำหน่าย นอกจากนี้ยังแนะนำให้ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV ในช่วงกลางวันเพื่อนำไปใช้ชาร์จ EV ในช่วงหัวค่ำที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง รวมถึงการติดตั้งสถานีชาร์จ EV เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมกับการสร้าง MEA EV Application เพื่อให้บริการประชาชน”

กฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์

ต่อมา กฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด ร่วมบรรยายในหัวข้อ ธุรกิจ Car Sharing กล่าวว่า “ฮ้อปคาร์ เป็นโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ที่ตอบสนองการใช้ชีวิตวิถีคนเมืองในปัจจุบัน ทำให้การลงทุนซื้อรถยนต์ไม่เป็นเพียงเพื่อใช้งานเอง แต่ฮ้อปคาร์ยังเปลี่ยนให้เป็นการลงทุนในธุรกิจคาร์แชร์ริ่ง (Car Sharing) ได้อีกด้วย

จากงานวิจัย คาร์แชร์ริ่ง (Car Sharing) หนึ่งคัน จะสามารถช่วยลดจำนวนรถในพื้นที่นั้นๆ ลงได้ 6-10 คัน พื้นที่ที่เหลือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ เช่น ช่องทางจักรยาน พื้นที่ทางเท้า เป็นต้น ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาให้บริการผ่านแพลตฟอร์มของเรา ซึ่งเราเห็นถึงแนวโน้มของความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยลูกค้าส่วนใหญ่สนใจเช่ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทดลองใช้งานโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเพื่อให้แน่ใจว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสังคมเมือง ทำให้อัตราการเช่ารถยนต์ระบบไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันบริการคาร์แชร์ริ่ง (Car Sharing) ของ บริษัทฯ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่เน้นความสะดวกสบายในการใช้รถเพื่อการเดินทางในภารกิจในแต่ละวัน โดย ฮ้อปคาร์ มีจุดให้บริการลูกค้ามากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศและมีรถพร้อมให้บริการมากกว่า 2,000 คัน จาก พาร์ทเนอร์มากกว่า 500 ราย โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าและรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ตั้งแต่ขนาดเล็กกระทัดรัดไปจนถึงรถขนาดใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

ฮ้อปคาร์ เป็นแอพลิเคชันที่ให้บริการเช่ารถยนต์ส่วนตัวแบบคาร์แชร์ริ่ง (Car Sharing) ที่นำเสนอรูปแบบโมเดลทางธุรกิจที่ช่วยลูกค้ากลุ่มที่ต้องการมีรายได้จากการปล่อยเช่ารถยนต์มาพบกับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้รถยนต์ ที่มีความสะดวก ทันใจ และปลอดภัย ไร้สัมผัสทุกขั้นตอน ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน HAUP ได้ง่าย ๆ เพียงแค่สมัครลง ทะเบียน กดเลือกวันเวลา จุดรับรถ และรุ่นรถยนต์ที่ต้องการใช้งาน เมื่อไปถึงรถตามเวลาที่จองไว้สามารถ ปลดล็อกรถผ่านมือถือหรือบัตร HAUPCARD ได้ด้วยตนเอง ตามหลักปรัชญาการให้บริการลูกค้าที่ชัดเจนเรื่อง Mobility for Everyone เราอยากให้การเดินทางเป็นเรื่องง่ายและสะดวกที่สุดสำหรับทุกคน”

พูนพัฒน์ โลหารชุน

ตามด้วย พูนพัฒน์ โลหารชุน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด บรรยายในประเด็น ธุรกิจ Charging Station กล่าวว่า “ถ้าพูดถึงประเด็นเรื่องของสถานีชาร์จไฟฟ้า ในปัจจุบันสถานีอัดประจุไฟฟ้า อ้างอิงข้อมูลตัวเลขจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในประเทศไทยเรามีประมาณสามพันกว่าหัวจ่าย ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า ที่จดทะเบียนเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า สามหมื่นสองพันคัน เท่ากับว่าสถานีอัดประจุไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 10 ของตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ ทางด้านงานวิจัยในประเทศไทยเผยว่า ตามลักษณะที่อยู่อาศัยในประเทศที่มีทั้ง บ้านเรือน คอนโด สำนักงานอาคาร เหมาะที่จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวนร้อยละ 10 ถือว่าเพียงพอ เเต่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็ว ปีนี้อาจจะแตะหลัก 5 หมื่นคัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นโอกาสในการขยายตัวของสถานีชาร์จไฟฟ้าในอนาคตที่จะต้องขยายตัวตามจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้สอดคล้องกัน”

สุรเดช พานิช

ต่อมา สุรเดช พานิช ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล บริษัท ซันเดย์ อินส์ จำกัด บรรยายในหัวข้อ ธุรกิจประกันภัยยุคใหม่ที่ใช้ระบบ AI กล่าวว่า “ทางซันเดย์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในปัจจุบันกระแสยานยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นหัวข้อที่ถูกนำเสนออย่างแพร่หลาย รวมถึงการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าแล้วนั้น คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงประกัน โดยบริษัทซันเดย์นั้น เป็นอินชัวร์เทค กล่าวคือ เรานำเทคโนโลยีและประกันรวมกัน เพื่อยกระดับการให้บริการรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ประกันและการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประกันทั่วไปราคาเบี้ยจะถูกหารจากความเสี่ยงของทุกคน แต่ที่ซันเดย์เราให้ AI เข้ามาคำนวณเบี้ยประกันโดยราคาเบี้ยของแต่ละคนจะถูกออกแบบผ่านความเสี่ยงของแต่ละคน โดยการคำนวณค่าเบี้ย (Pricing Engine) เราทำในรูปแบบของ “เลโก้” นั้นหมายความว่า เราสามารถปรับ เสริม เติมแต่ง ลดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการใช้รูปแบบนี้จะส่งผลให้ลูกค้าได้รับราคาเบี้ยประกันที่สมเหตุสมผล และเป็นราคาเบี้ยที่ถูกออกแบบมาเพื่อถูกคน แต่ละคนโดยเฉพาะ โดยในปัจจุบันซันเดย์รองรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 2 แบรนด์ ได้แก่ MG และ ORA ซึ่งในอนาคตเรามีแผนที่จะขยายการรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าอีกมากมาย”

ปริญ กัญจนาทิพย์

ด้าน ปริญ กัญจนาทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซินเนอร์ยี่ซัน จำกัด บรรยายในหัวข้อ ธุรกิจการติดตั้งโซลาร์เซลล์และกรีนเอเนอร์ยี่ กล่าวว่า “เมื่อรถไฟฟ้ามากขึ้นภาครัฐก็ต้องเพิ่มโรงไฟฟ้ามากขึ้นตาม ดังนั้นภาคประชาชนเราสามารถช่วยกันแบ่งเบาภาระนี้ หรือ Decentralized Energy โดยการติดตั้ง Solar Rooftop ได้ และ สิ่งที่สำคัญพฤติกรรมขอผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์มักจะคอยเฝ้าดูเสมอว่าวันนี้บ้านใช้พลังงานเท่าไหร่ โซลาร์เซลล์วันนี้ผลิตได้เพียงพอหรือไม่ จนเกิดพฤติกรรมอนุรักษ์และบริหารจัดการพลังงานของตัวเองด้วย”

ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อ้างอิงจากข้อมูลกรมขนส่งทางบก ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทุกประเภทมีจำนวน กว่า 36,775 คัน (อ้างอิงสถิติการจดทะเบียนถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566) และมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save