ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีเป้าหมายที่จะมีระดับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุดรายหนึ่งของประเทศ เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี 2566 ยังมีรายได้โตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้ รวม 2,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 143 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีรายได้ 2,543 ล้านบาท
ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower กล่าวว่า โดยรายได้ในช่วงไตรมาส 1/2566 มีปัจจัยบวกมาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าและไอน้ำของโรงไฟฟ้าบาง-ปะอิน โคเจนเนอเรชั่น (BIC) ที่เพิ่มขึ้น 161 ล้านบาทหรือร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นตามสถานการณ์ในตลาดโลก รวมถึงการประกาศปรับเพิ่มค่า Ft ขายปลีกโดยภาครัฐ ขณะที่รายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 (NN2) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ณ ต้นปีต่ำกว่าปีก่อน และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บ-น้ำในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงต่อการผลิตไฟฟ้าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ที่โดยปกติจะเป็นช่วงฤดูแล้ง
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 1/2566 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพิ่มขึ้นเป็น 2,324 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 121 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.5 ส่วนใหญ่จะเป็นค่าเชื้อเพลิงของ BIC ที่เพิ่มขึ้น 86 ล้านบาท ประกอบกับมีค่าดำเนินการและซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นจากงานซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Overhaul) ของ NN2 จำนวน 37 ล้านบาท รวมถึง บริษัทฯ มีการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี (XPCL) จากปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลงตามปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายทางการเงินของ XPCL ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยโลก ทำให้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนรวม 152 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จำนวน 104 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2566
สำหรับฐานะทางการเงินของ CKPower ยังคงแข็งแกร่ง โดยหนี้สินรวมลดลงร้อยละ 3.0 จากสิ้นปี 2565 จากการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดของ NN2 ในเดือนมีนาคม 2566 ทั้งนี้เมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ CKPower ที่อันดับ “A” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ทุกชุดของบริษัทที่อันดับ “A-” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่”
ธนวัฒน์ กล่าวว่า แม้ในไตรมาสแรกของปีนี้บริษัทฯ จะมีผลการดำเนินงานที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายด้าน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มจากค่าเชื้อเพลิงและการซ่อมบำรุงใหญ่ แต่ CKPower มีข่าวดีสำหรับผู้ถือหุ้น โดยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 0.085 บาท เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 691 ล้านบาท โดยจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามที่ปรากฏชื่อ ณ วันกำหนดสิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้
“บริษัทได้มุ่งเน้นบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีกระแสเงินสดสำรองเพียงพอ รับมือกับปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ทั้งในเรื่องของค่าเชื้อเพลิง ปริมาณน้ำ และอัตราดอกเบี้ย โดยแนวโน้มผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปี น่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากเริ่มเห็นของปริมาณน้ำในช่วงตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนอีกครั้ง” นายธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ในด้านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัทมีผลงานโดดเด่นในช่วงปีที่ผ่านมาคือ การได้รับรางวัล Most Sustainable Hydro Power Company in Thailand จากงาน The Global Economics Awards 2022 จัดโดยนิตยสาร The Global Economics Magazine ซึ่งสะท้อนถึงการดำเนินงานอย่างยั่งยืนในมิติโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ รวมถึงรางวัล Best Green Bond Hydropower Plant Framework – Thailand จากงาน The International Finance Awards 2022 จัดโดยนิตยสาร The International Finance Magazine ที่แสดงถึงการจำหน่ายหุ้นกู้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของบริษัทฯ ที่เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล และรางวัล ESG Corporate Awards 2022 ประเภท Platinum จากนิตยสาร The Asset แสดงถึงการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในมิติของ ESG ที่ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งรางวัลทั้งหมดนี้ ตอกย้ำภาพการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจนั้น ไตรมาสที่ผ่านมา CKPower โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเครือของ CKPower สามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Avoided GHG Emission) จำนวน 780,709.83 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emissions) ภายในปี 2593
ข้อมูลเกี่ยวกับ CKPower: บริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ 3 ประเภท จำนวน 13 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย (1) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้า น้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ภายใต้ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 42.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ (2) โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และ (3) โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 7 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ และภายใต้ บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์