เมื่อเร็วๆ นี้ภายในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทคประจำปี 2562 (NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2019 : NECTEC-ACE 2019) ซึ่งจัดโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ประกาศเปิดตัว AI FOR THAI : Thai AI Service Platform หรือแพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทย เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาที่เนคเทค สวทช. สะสมองค์ความรู้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยมุ่งหวังให้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมและบริการ ยกระดับประสิทธิภาพภาคเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเศรษฐกิจในอนาคต และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชน รวมถึงสร้างอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืน
รศ. นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การทำงานของเนคเทค สวทช. และงานประชุมวิชาการ NECTEC-ACE 2019 ครั้งนี้มีความหมายต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งใน 5 ประเด็น ประเด็นที่ 1 คือ นโยบายของรัฐมนตรี นโยบายรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีความชัดเจนใน 4 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือการสร้างคนในศตวรรษที่ 21 เรื่องที่ 2 การสร้างองค์ความรู้การวิจัย เรื่องที่ 3 การสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม และเรื่องที่ 4 การ Reinventing the University ซึ่งด้วยภารกิจของเนคเทค สวทช. สามารถเข้าได้กับทุกยุทธศาสตร์และทุกๆ ประเด็นของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยเฉพาะข้อ 1 การสร้างคน ประเด็นที่ 2 เนคเทค สวทช. เป็นองค์กรที่เป็นผู้นำด้านอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ยุคที่จะก้าวข้ามผ่านยุคคอมพิวเตอร์และ Device ไปเรียบร้อยแล้ว กำลังมีการพูดถึง Big Data และ AI เพราะฉะนั้นทุกคนหรือทุกหน่วยงานจะต้องสนใจและพัฒนาเรื่อง AI อย่างชัดเจนในทุกๆ มิติ ตั้งแต่มิติเรื่องการสอนให้เด็กรู้จัก AI ตั้งแต่เด็กๆ ในหลักสูตร มิติที่จะทำให้คนเข้าใจว่าข้อมูลทั้งหลายที่อยู่รอบตัวในปัจจุบันซึ่งถูกนำไปใช้ด้วย AI ได้ทั้งหมด หรืออีกนัยคือ เราก้าวข้ามเรื่อง IoT (Internet of Things) ไปเรียบร้อยแล้วด้วย
ส่วนประเด็นที่ 3 เนคเทค สวทช. มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรมากมายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การทำงานแบบนี้จะได้โจทย์ที่มาจาก Demand-Side จริงๆ และประเด็นที่ 4 การที่เนคเทค สวทช. ทำงานแล้วสามารถนำผลงานกลับคืนสู่สังคมไทยทุกๆ ภาคส่วนเพื่อให้สังคมไทยได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ขอให้คำนึงว่า AI คอมพิวเตอร์หรืออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายนี้ ทำงานเพื่อเสริมความพัฒนาของมนุษย์ เพราะฉะนั้นทุกอย่างให้คำนึงถึงหลักจริยธรรมไว้ด้วย และประเด็นที่ 5 การจัดงานประชุมวิชาการหรือ Conference จะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มาแลกเปลี่ยนความรู้และสิ่งที่แต่ละคนได้ทำมาด้วยภารกิจของเนคเทค สวทช. ซึ่งเป็นองค์พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงจะเป็นเหมือนเครื่องจักรสำคัญในการสร้างรากฐานทางเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยี อันจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนต่อไป
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. กล่าวในโอกาสประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทยว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง เนื่องจากได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ ผนวกรวมกับข้อมูลในรูปแบบจำนวนมากและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเสียง รูปภาพข้อความ แผนผังข้อมูล ซึ่งเก็บรวบรวมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นส่งผลให้พัฒนาการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ภายใต้กระบวนการที่เรียกว่า Machine Learning ซึ่งหมายถึงการใช้อัลกอรึทึมในการวิเคราะห์ข้อมูล เรียนรู้ข้อมูลแล้วทำการคาดการณ์หรือประเมินผลสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะผ่านการป้อนข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับชีวิตของผู้คนในปัจจุบันมากขึ้น และเริ่มมีบทบาทชัดเจนต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะจะช่วยทำงานในส่วนที่อยู่นอกขอบเขตของมนุษย์ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจแบบแผนต่างๆ โดยปัจจุบันได้นำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งสามารถเชื่อมโยง เรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งเนคเทค สวทช. ได้สะสมองค์ความร้แู ละความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์มากว่า 20 ปี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยและเอกลักษณ์ของไทย และมีความมุ่งหมายว่า AI FOR THAI จะเป็นฐานรากทางเทคโนโลยีที่สำคัญให้กับนักธุรกิจ นักพัฒนา และนักวิจัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยได้
ดังนั้น หากคุณคือนักพัฒนา ผู้ประกอบการบริษัท SME ที่มีจินตนาการสร้างสรรค์ อยากพัฒนาแอปพลิเคชันด้าน AI ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีค่าใช้จ่ายกับการประมวลผลภาษาไทย เช่น ตัดคำ วิเคราะห์ไวยากรณ์ วิเคราะห์คำอ่าน วิเคราะห์ความคิดเห็น วิเคราะห์ภาพและวิดีโอ เช่น ภาพข้อความ ภาพวัตถุ ภาพใบหน้า เข้าใจและสร้างเสียงพูดภาษาไทย ตลอดจนสร้าง Chatbot พร้อมกันนี้ได้มีการเปิดตัวนักข่าว AI คนแรกของไทยคือ สุทธิชัย หยุ่น ภายในงานนี้ด้วย
Source: นิตยสาร Electricity & Industry Magazine ปีที่ 26 ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2562 คอลัมน์ Special Scoop
โดย กองบรรณาธิการ