โรงไฟฟ้าทุ่งสัง กรีน … ต้นแบบชีวมวล เชื้อเพลิงผสม หนุนเศรษฐกิจชุมชน


โรงไฟฟ้าทุ่งสัง กรีน ... ต้นแบบชีวมวล เชื้อเพลิงผสม หนุนเศรษฐกิจชุมชน

โรงไฟฟ้าทุ่งสัง กรีน หรือ TSC โรงไฟฟ้าในเครือบริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ตั้งอยู่ที่อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โรงไฟฟ้าทุ่งสัง กรีน ใช้เชื้อเพลิงหลักคือ ไม้ยางพารา นอกจากต้นยางพาราแล้วยังใช้ตอไม้ รากไม้ ปลายไม้ และปีกไม้ เป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย นอกจากนั้นในบางช่วงเวลาก็จะปรับใช้เชื้อเพลิงเสริม คือกะลาปาล์มและทะลายปาล์ม

TSC เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 9.2 เมกะวัตต์ ภายใต้สัญญา Feed-in-Tariff เป็นระยะเวลา 20 ปี ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่ กฟภ. ประมาณปีละ 77 ล้านหน่วย สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยมากกว่า 85,000 MWh ต่อปีหรือเทียบเท่าการลดปริมาณคาร์บอนทดแทนการใช้ฟอสซิล ทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 50,000 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ต่อปี นอกจากนั้นยังช่วยแก้ไขปัญหาไฟตก ไฟดับในเขตภาคใต้อีกด้วย

โรงไฟฟ้าทุ่งสัง กรีน ... ต้นแบบชีวมวล เชื้อเพลิงผสม หนุนเศรษฐกิจชุมชน

ด้วยวิสัยทัศน์ของโรงไฟฟ้าคือ “โรงไฟฟ้าเพื่อชุมชน มุ่งมั่นพัฒนา ผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างมีคุณภาพ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบสนองความถึงพอใจของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย” โดยโรงไฟฟ้าสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนมากกว่าปีละ 100 ล้านบาท จากการรับซื้อวัตถุดิบและการจ้างงานบุคลากรภายในพื้นที่ถึงร้อยละ 93

กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี
กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี

กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานกรรมการบริหาร TPCH โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ได้รับการออกแบบให้ใช้เชื้อเพลิงผสมได้หลายชนิด (Multi-Fuel) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ เชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในโรงงานคือเศษวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปไม้ยางพาราประมาณ 115,020 ตันต่อปี ใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อช่วยลดอัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 10%

นอกจากนี้ ผู้บริหารให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทางโรงไฟฟ้าได้ติดตั้งเครื่องดักจับไฟฟ้าสถิต (ESP) สำหรับดักฝุ่นและเถ้าเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เพื่อตรวจสอบ ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม มีการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ทั้งคุณภาพน้ำ อากาศและการจัดการของเสียทุกๆ 6 เดือน และปฏิบัติตามนโยบายของรัฐอย่างเคร่งครัด

โรงไฟฟ้าทุ่งสัง กรีน มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานมีประสิทธิภาพ โดยมีการควบคุมการทำงานของทุกระบบอย่างเข้มงวด

  • ระบบจัดเก็บและลำเลียงเชื้อเพลิง : เป็นระบบควบคุมมอเตอร์เป็นแบบ Variable Speed Drive ซึ่งสามารถปรับลดความเร็วของมอเตอร์ได้ตามสภาวะโหลดเพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า
  • ระบบเผาไหม้และหม้อไอน้ำ : สามารถรองรับเชื้อเพลิงได้หลากหลาย และเชื้อเพลิงที่มีความชื้นแตกต่างกัน
  • ระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าเครื่องกังหันไอน้ำแบบ 10 State สามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงได้กว่า 50,000 ตันต่อปี
  • ระบบควบคุมคุณภาพอากาศและการจัดการขี้เถ้า : เครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator : ESP) สามารถจับฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอน ได้มากกว่า 99.5%

อนึ่ง บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ และให้บริการสนับสนุนการดำเนินการของบริษัทย่อยและกิจการที่ควบคุมร่วมกันของบริษัทฯ โดยมีเงินลงทุนในบริษัทที่มีแผนดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากชีวมวลจำนวน 10 บริษัท บริษัทที่มีแผนดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยโดยมีการจัดการขยะแบบผสมผสานจำนวน 1 บริษัท และผลิตและจำหน่าย Refuse Derived Fuel (RDF) จำนวน 1 บริษัท และจะมีรายได้หลักเป็นเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนถือหุ้นในบริษัทอื่น และมีรายได้อื่นๆ จากการให้บริการสนับสนุนการดำเนินการของบริษัทในกลุ่ม

โรงไฟฟ้าชีวมวล เชื้อเพลิงผสม

TPCH ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้าง เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข โดยกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็น “โรงไฟฟ้าของชุมชน” ด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และยึดมั่นในการประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงสัมพันธภาพที่ดีและยั่งยืนกับคนในชุมชน โดยให้ความสำคัญในเรื่องการรักษามาตรฐานระเบียบปฏิบัติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงชุมชนโดยรอบ เพื่อให้ความมั่นใจกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าว่าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือมลพิษต่างๆ เช่น ควัน เสียง และฝุ่น บริษัทฯ เลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อลดปริมาณควัน เสียง และฝุ่นให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนรอบพื้นที่ที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ ซึ่งรวมถึงการจัดสรรงบประมาณสมทบเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนต่างๆ ในพื้นที่และการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาชุมชมอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ ความชำนาญต่างๆ ให้แก่ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป

ด้วยนโยบายที่มุ่งมั่นใส่ใจสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานนี้เอง ทำให้บริษัทในเครือ TPCH ได้รับรางวัลทั้งระดับประเทศและนานาชาติ เมื่อปี ค.ศ. 2019 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้เลือกให้โครงการโรงไฟฟ้าทุ่งสัง กรีน ได้รับรางวัลดีเด่น Thailand Energy Awards 2019 ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (On-Grid) นอกจากนั้น โครงการโรงไฟฟ้าทุ่งสัง กรีน ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในระดับ ASEAN Energy Awards 2019 อีกด้วย

นวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล
นวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล

นวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าต้นแบบของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้วัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในแบบใช้เชื้อเพลิงผสมได้หลายชนิด (Multi-Fuel) เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงขาดแคลน บริษัทได้ออกแบบโรงไฟฟ้าแห่งนี้ด้วยการติดตั้งระบบเครื่องดักจับไฟฟ้าสถิต (ESP) เพื่อดักจับฝุ่นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในระบบการผลิต เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับชุมชนโดยรอบ ทำให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขายวัสดุทางการเกษตร เป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สอดรับกับนโยบายพลังงานที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานของประเทศ อีกทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าที่มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ในกรณีที่เกิดปัญหาไฟฟ้าตก-ดับได้อีกทางหนึ่งด้วย

“จากศักยภาพของโรงไฟฟ้า จึงทำให้ได้รับการพิจารณารางวัลทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน นับเป็นเครื่องการันตีถึงความสำเร็จในความมุ่งมั่นพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีมาตรฐานในการผลิตไฟฟ้าและการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจากการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง” นวลจันทร์ กล่าว

พร้อมกันนี้ พพ. พร้อมที่จะเดินหน้าส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวล สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นโดยเฉพาะการนำวัสดุทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศต่อไป


Source: นิตยสาร Electricity & Industry Magazine ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 มีนาคม-เมษายน 2563
คอลัมน์ Factory Visit โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save