ผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพจากมลพิษฝุ่นจิ๋ว PM2.5 และข้อปฏิบัติตัวที่สำคัญ


ผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพจากมลพิษฝุ่นจิ๋ว PM2.5 และข้อปฏิบัติตัวที่สำคัญ

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย มีความเป็นห่วงผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพจากมลพิษฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย หรือจังหวัดใกล้เคียง โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กล่าวไว้ว่า “การหายใจด้วยอากาศที่มีคุณภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน” ดังนั้น เมื่ออนุภาคมลพิษอากาศขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 มีส่วนประกอบสำคัญหลักคือคาร์บอนอินทรีย์ สาร PAHs เกลือซัลเฟตเกลือไนเตรท โลหะหนัก มีสัดส่วนเปลี่ยนไปบ้างตามแหล่งกำเนิดมลพิษและฤดูกาล เนื่องจาก PM2.5 มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดงจึงเข้าสู่ทุกเซลล์ของระบบอวัยวะได้อย่างรวดเร็ว เมื่อสูดหายใจเข้าไป จึงอาจมีผลกระทบต่อแทบทุกระบบอวัยวะของร่างกาย จะมีผลกระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ดังนี้

1.) ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ที่ร่างกายได้รับ 2.) ระยะเวลาสะสมที่ร่างกายได้รับ PM2.5 3.) สัดส่วนของสารประกอบชนิดต่างๆ ใน PM2.5 4.) สภาวะของร่างกายขณะได้รับ PM2.5 (ทารกในครรภ์มารดาและช่วงวัยต่างๆ ความไวต่อมลพิษของบุคคล ความเจ็บป่วยที่มีอยู่เดิม ความแข็งแรงของร่างกาย) ผลกระทบดังกล่าวอาจมีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ยังไม่ปรากฏอาการไม่มีการอักเสบ ไม่ปรากฏอาการแต่มีการอักเสบแฝงในระบบอวัยวะจนเกิดอาการผิดปกติ ซึ่งเกิดได้ทั้งฉับพลันทันทีทันใด แบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง โดยผลกระทบตามระยะต่างๆ อาจทำให้เกิดโรคขึ้นใหม่หรือทำให้โรคเดิมรุนแรงขึ้น ทำให้เซลล์ของอวัยวะต่างๆ เสื่อมจนทำให้อวัยวะทำงานเสื่อมเร็วและรุนแรงขึ้น อาจทำให้เซลล์กลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง ตัวอย่างผลกระทบจาก PM2.5 ต่อระบบอวัยวะสำคัญหลักในการดำรงชีวิต ได้แก่ ระบบการหายใจ (เช่น โพรงจมูกอักเสบทั้งแบบภูมิแพ้ และติดเชื้อหลอดคอ กล่องเสียง และหลอดลมอักเสบ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปอดอักเสบ) การอักเสบจาก PM2.5 ส่งเสริมให้ระบบการหายใจมีการอักเสบมากขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้และการอักเสบจาก PM2.5 ยังทำให้ติดเชื้อ (เช่น ไวรัสไข้หวัด ไวรัสไข้หวัดใหญ่ แบคทีเรีย) ได้ง่ายและรุนแรงมากขึ้นหลายเท่า และจำนวนไม่น้อยที่เกิดการอักเสบทั้งแบบภูมิแพ้และแบบติดเชื้อผสมผสานกัน ระบบหัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว) ระบบหลอดเลือด (หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองเสื่อม โรค Stroke ของหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ หลอดเลือดดำอุดตัน) ระบบสมอง (สมองด้อยประสิทธิภาพ สมองเสื่อม สมาธิสั้นและระบบจิตประสาท (อารมณ์แปรปรวนความผิดปกติทางจิตแบบซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย) และมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งของอวัยวะต่างๆ (โดยเฉพาะมะเร็งปอด) ดังนั้น PM2.5 จึงเป็นมลพิษที่เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตทั้งแบบฉับพลัน เฉียบพลันและทำให้อายุขัยสั้นลง เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยทั้งฉับพลันและเฉียบพลันอาจรุนแรงถึงกับต้องไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินหรือต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ โรคระบบการหายใจโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือทำให้โรคเรื้อรังดังกล่าวมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด

ศ. นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์
ศ. นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์

ส่วนระดับค่าเฉลี่ยของ PM2.5 รายวัน นิยมใช้ในการศึกษาวิจัยผลกระทบต่อการสูญเสียชีวิตและสุขภาพในระยะสั้นและค่าเฉลี่ยรายปี นิยมใช้ในการศึกษาวิจัยผลกระทบระยะยาวต่อการเกิดโรคเรื้อรังของระบบอวัยวะต่างๆ รวมทั้งโรคมะเร็งและช่วงอายุขัย ส่วนค่า PM2.5 รายชั่วโมง มีผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นเดียวกัน ส่วนจะมากน้อยแตกต่างกันตามปัจจัยทั้ง 4 ที่กล่าวข้างต้น จึงนิยมใช้เตือนประชาชนในการวางแผนบริหารความเสี่ยงในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจาวันในชั่วโมงถัดไป

ฝุ่น PM 2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพ

แม้จะไม่มีค่า PM2.5 ที่ต่ำสุดที่ถือว่าปลอดภัยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำความเป็นไปได้ที่ประเทศต่างๆ ควรมีแผนการดำเนินการกำหนดเป้าหมายให้ระดับ PM2.5 ไม่เกินค่าที่แนะนำ เพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพให้เหลือน้อยเท่าที่จะบริหารจัดการได้ตามหลักฐาน งานวิจัยทั่วโลกที่ใช้ประกอบคำแนะนำ (ค่าเฉลี่ยรายวันไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม และค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน10 มคก./ลบ.ม) ส่วนแต่ละประเทศจะกำหนดค่ามาตรฐานของประเทศตนเองอย่างไรขึ้นอยู่กับระดับมลพิษ PM2.5 การชั่งความสมดุลเรื่องชีวิตและสุขภาพกับงบประมาณการลงทุน เพื่อปรับปรุงสภาวะแวดล้อมของแต่ละประเทศ ตลอดจนความเข้าใจ ความตั้งใจ และความจริงจังในการปรับปรุงคุณภาพอากาศของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยพิจารณาจากการที่ฝ่ายปกครองมีคำมั่นสัญญาที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม กำหนดนโยบาย งบประมาณ แผนการดำเนินการ วิธีการดำเนินการ และการประเมินผล ที่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนทันต่อสถานการณ์แนวโน้มระดับมลพิษอากาศ จากการศึกษาในต่างประเทศในหลายประเทศพบว่า งบการลงทุนเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศมีความคุ้มทุนสูงมากหลายสิบเท่า และเห็นผลดีอย่างรวดเร็วทั้งในด้านชีวิตสุขภาพ และเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าควบคู่ไปกับอากาศที่มีคุณภาพได้ตัวอย่างเช่น จีน สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย เป็นต้น

ฝุ่น PM 2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพ

จากการศึกษาวิจัยพบว่า ประชากรของประเทศไทยได้รับผลกระทบด้านชีวิตและสุขภาพจากฝุ่นมลพิษแทบทุกภาคมาอย่างยาวนานกว่าทศวรรษ และทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงฤดูแล้ง (ช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน) โดยเฉพาะ 3-5 ปีล่าสุด โดยแหล่งกำเนิดมลพิษที่เป็นปัญหาและมีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนมากที่สุดในช่วงฤดูแล้ง คือ การเผาในพื้นที่เกษตรเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อย ข้าวโพด และข้าว ในทุกภาคยกเว้นภาคใต้) และยังมีการทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ภูเขา บ่อยครั้งที่ไฟลุกลามออกนอกพื้นที่ปลูกกลายเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งของไฟป่า (ภาคเหนือตอนบน) ตลอดจนมีการเพิ่มการเผาพื้นที่เกษตรจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน ทำให้พื้นที่ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 ในช่วงฤดูแล้งกันอย่างถ้วนทั่ว รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ได้รับ PM2.5 จากการเผาอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลักด้วยเช่นกันเพราะกระแสลมที่พัดมวล PM2.5 จากแหล่งกำเนิดเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑลร่วมกับสภาพความกดอากาศ การกักขังอากาศไม่มีการถ่ายเทเอื้อให้มลพิษ PM2.5 ลอยแขวนในบรรยากาศอยู่นาน ทำให้สัดส่วนแหล่งกำเนิด PM2.5 มาจากการเผาอุตสาหกรรมเกษตรมีอิทธิพลมากกว่ามลพิษจากการจราจรหรือมลพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวโดยสรุปได้ว่า มลพิษ PM2.5 ในประเทศไทยในช่วงฤดูแล้งเกิดจากการเผาอุตสาหกรรมเกษตร อ้อย ข้าวโพด และข้าว เป็นหลัก และถูกซ้ำเติมด้วยการเผาอุตสาหกรรมเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งสาธารณรัฐกัมพูชาและสาธารณรัฐเมียนมาร์

จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันชาวเชียงใหม่ที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับค่าฝุ่นมรณะที่เกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เปรียบเทียบในช่วงฤดูเผาเกษตร ปี 2560, 2561, 2562

คำแนะนำหลักสำหรับประชาชนในการดูแลตนเองช่วงวิกฤตมลพิษ

  1. ติดตามค่าดัชนีคุณภาพอากาศในบริเวณที่ตัวเองอยู่หรือใกล้เคียงที่สุดเป็นระยะๆ โดยเลือกดัชนีที่สะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงเวลาชั่วโมงล่าสุดเป็นสำคัญ หากไม่มีค่าคุณภาพอากาศในบริเวณใกล้เคียงที่ตัวเองอยู่ การใช้เครื่องวัด PM2.5 แบบพกพา แม้ไม่แม่นยำเท่าเครื่องมาตรฐาน แต่ได้ค่าสอดคล้องกันเป็นอย่างดี มีประโยชน์ในการติดตามแนวโน้มค่ามลพิษส่วนบุคคล และสามารถร่วมกันทำเป็นเครือข่ายในพื้นที่ที่ละเอียดขึ้น (แต่มีข้อจำกัดหากวัดในที่ความชื้นสูงมาก จึงต้องหมั่นตรวจสอบและปรับค่า) ไม่ควรใช้ดัชนีคุณภาพอากาศรายวันมาใช้ในการวางแผนดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
  2. ปิดประตูหน้าต่างเพื่อไม่ให้มลพิษอากาศเข้ามาสะสมในอาคาร และใช้เครื่องฟอกอากาศในอาคารที่ทำงานหรืออยู่อาศัย เช่น ห้องทำงาน ห้องนอน หรือห้องที่อยู่อาศัยเป็นเวลานาน หากปิดห้องนานๆ ระบบไหลเวียนอากาศไม่เพียงพอ (รู้สึกอึดอัด ปวด หรือมึนศีรษะ) ให้เปิดแง้มห้องเพื่อระบายอากาศระยะสั้นๆ แล้วปิดตามเดิม อาจต้องทำสลับเช่นนี้จนคุณภาพอากาศลดลงมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับแต่ละบุคคล
  3. ควรสวมหน้ากากที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ (N95) และสวมให้ถูกวิธี จำเป็นต้องเลือกขนาดที่ใส่ได้กระชับกับรูปจมูกและใบหน้า หากเริ่มอึดอัดหรือเหนื่อยให้ถอดออกเพียงชั่วครู่ก็จะรู้สึกสบายขึ้นแล้วรีบสวมใหม่ ทำสลับกันไปเช่นนี้จนดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยกับตนเอง การใส่หน้ากาก N95 ที่มีวาล์วระบายลมหายใจออกจะทำให้อึดอัดน้อยลง ใส่ได้นานขึ้น
  4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายนอกอาคารหรือในอาคาร (โรงยิม) ที่ไม่มีระบบฟอกอากาศนานๆ หรืออาจต้องงดออกกำลังกายขึ้นกับระดับคุณภาพอากาศในช่วงเวลานั้น และปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล
  5. หลีกเลี่ยงการอยู่ในอาคารที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ (เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ) ถ้าจำเป็นต้องอยู่ควรสวมหน้ากาก N95 และทำตามข้อ 3
  6. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหัวใจและหลอดเลือดความดันโลหิตสูง หรือโรคระบบหายใจเรื้อรัง เช่น หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ควรหมั่นสังเกตอาการ โรคกำเริบ ถ้ามีอาการควรใช้ยาหรือรักษาเบื้องต้นตามที่แพทย์เคยแนะนำและไปพบแพทย์โดยเร็วหากอาการไม่หายเป็นปกติ
  7. ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือแข็งแรง ถ้ามีอาการผิดปกติที่รบกวนชีวิตประจำวันควรรีบพบแพทย์เช่นกัน อาการสำคัญที่ควรรีบไปพบแพทย์อย่างฉุกเฉิน ได้แก่ แน่นอกหรือเจ็บอก หรือเจ็บท้องใต้ลิ้นปี่เหมือนมีของหนักกดทับ เหนื่อยหอบผิดปกติ ปวดมึนศีรษะชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้าหรือแขนขาซีกใดซีกหนึ่งอย่างฉับพลัน มุมปากตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ออก สับสน มองไม่เห็นฉับพลัน อาการไอเป็นชุดๆ ไอมีเสียงดังหวีด มีไข้ และหอบเหนื่อย เป็นต้น
  8. สวมแว่นตาขนาดใหญ่เพื่อป้องกันดวงตาจากมลพิษใช้น้ำเกลือมาตรฐานล้างตาหากรู้สึกระคายเคืองตา
  9. ใช้น้ำเกลือล้างจมูกเพื่อล้างฝุ่นควันลดอาการคัดจมูกหรือกลั้วคอเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ
  10. ไม่เป็นผู้ก่อมลพิษเอง เช่น ไม่เผาทุกชนิด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช้รถควันดำ

Source: นิตยสาร Electricity & Industry Magazine ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 พฤษภาคม-มิถุนายน 2563 คอลัมน์ Article
โดย ศ. นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้อายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save