กฟผ. ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Stadtwerke Rosenheim เพื่อร่วมกันศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน มุ่งเน้นเชื้อเพลิงประเภทชีวมวล (Biomass) และก๊าซชีวภาพ (Biogas) โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ Ms. Gabriele Bauer นายกเทศมนตรี เมือง Rosenheim ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ เมือง Rosenheim สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
วานนี้ (2 ตุลาคม 2562) นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Dr. Goetz Bruehl ประธานกรรมการบริษัท Stadtwerke Rosenheim เพื่อร่วมกันศึกษาพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยมุ่งเน้นเชื้อเพลิงประเภทชีวมวล (Biomass) และก๊าซชีวภาพ (Biogas) โดยมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ Ms. Gabriele Bauer นายกเทศมนตรี เมือง Rosenheim ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ เมือง Rosenheim สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โรงไฟฟ้าเทศบาล Stadtwerke Rosenheim เป็นโรงไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชุมชนจากการนำขยะในท้องถิ่นมาผลิตไฟฟ้าได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ มีการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพร่วมกับโซลาร์เซลล์และพลังงานลมเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับคนในชุมชน หากนำรูปแบบความสำเร็จมาบูรณาการกับโรงไฟฟ้าชุมชนในประเทศไทยให้เหมาะกับเศษวัสดุทางการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่น อาทิ ซังข้าวโพด แกลบ หญ้าเนเปียร์ ทะลายปาล์ม ก็จะทำให้คนในชุมชนมีแหล่งพลังงานที่มั่นคง มีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าและจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ตามนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ระหว่าง กฟผ. กับบริษัท Stadtwerke Rosenheim เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการเดินหน้าตามนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เนื่องจากบริษัท Stadtwerke Rosenheim มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวล และก๊าซชีวภาพ โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ตลอดจนการออกแบบเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อชุมชนแต่ละแห่ง รวมถึงศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในประเทศไทยสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบ โดยชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ มีการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ สร้างงานให้กับท้องถิ่น ร่วมกับการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิดในการดำเนินงาน ก็จะสามารถแก้ปัญหาด้านน้ำ อาหาร และพลังงาน ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญของโลกในอนาคต โรงไฟฟ้าชุมชนในแนวทางของ กฟผ. มิใช่มิติแค่เรื่องพลังงานเท่านั้น แต่คือการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความยั่งยืนต่อชีวิตของคนไทยอย่างแท้จริง อีกทั้งในบางพื้นที่ยังสามารถบูรณาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับกับชีวมวล หรือก๊าซชีวภาพ ช่วยเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า โดยไม่กระทบกับระบบไฟฟ้าหลักได้อีกด้วย
Dr. Goetz Bruehl ประธานกรรมการบริษัท Stadtwerke Rosenheim กล่าวว่า มีความยินดีที่เมืองโรเซนไฮม์ ได้ร่วมมือกับประเทศไทยในการพัฒนาโรงไฟฟ้าเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับคนในชุมชน เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าของโรเซนไฮม์ที่ได้นำขยะจากชุมชนและวัสดุทางการเกษตรมาผลิตไฟฟ้าและความร้อนส่งให้กับคนในเมือง โดยไม่สร้างมลพิษต่อชุมชน ทางโรเซนไฮม์เชื่อว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนของไทยอย่างเป็นรูปธรรม
Source: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)