พลังงานแสงอาทิตย์มีข้อดีมากมายที่มนุษย์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นพลังงานธรรมชาติ สะอาดปลอดภัย ไม่มีวันหมด และไม่ก่อให้เกิดมลพิษในชั้นบรรยากาศ ปัจจุบัน จึงมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกอันชาญฉลาดที่จะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืน
เมื่อโลกเปลี่ยนไป บทบาทของผู้บริโภคก็เปลี่ยนตาม จากเดิมที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชน แต่ในปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้แล้ว (Prosumer) และในอนาคต ประชาชนคนไทยก็มีแนวโน้มที่จะนิยมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบของการติดตั้ง Solar Rooftop เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ใช้ไฟฟ้าจากระบบดังกล่าวยังประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการติดตั้งและการใช้พลังงานจาก Solar Rooftop อย่างแท้จริง บริษัทผู้รับจ้างการติดตั้งขาดความชำนาญ อุปกรณ์ไม่มีมาตรฐาน และไม่มีบริการหลังการขาย รวมถึงขาดที่ปรึกษาในการบริหารจัดการพลังงานได้อย่างถูกต้อง
“การติดตั้ง Solar Rooftop ในปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่มาใหม่และเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ สถานการณ์ Solar PV ในประเทศไทยมีการพัฒนาเรื่อยมา จนกำลังจะก้าวสู่ Solar Rooftop เสรีในปีหน้าหรือปีถัดไป ในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเอง เรามีนโยบายขายไฟเสรี บ้านต่อบ้าน หรือ Peer to Peer ซึ่งในต่างประเทศทำกันแล้ว และประเทศไทยจะต้องถึงจุดนั้นในวันหนึ่ง ปัจจุบันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีเครือข่ายเรามีเสาสายซึ่งรองรับนโยบายนี้ ผู้ขายจึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปสร้างเครือข่ายขึ้นอีก” เสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวไว้ในงานเสวนา PEACON & INNOVATION ที่ผ่านมา
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มุ่งหวังให้ประชาชนสามารถใช้ไฟฟ้าจากระบบ Solar Rooftop ได้อย่างครอบคลุมทุกรูปแบบ การดำเนินชีวิตมีความปลอดภัย และสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้อง จึงได้คิดค้นและพัฒนา PEA Solar Hero Application ขึ้นมา เพื่อดูแลลูกค้าที่มีความต้องการจะใช้พลังงานจากระบบ Solar Rooftop ตั้งแต่เริ่มต้นติดตั้ง ไปจนถึงบริหารจัดการพลังงานแสงอาทิตย์ได้ด้วยตัวเอง
PEA Solar Hero จะเริ่มต้นดูแลลูกค้าตั้งแต่การประเมินความคุ้มทุน เป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนมีพันธมิตรที่เชื่อถือได้ ทั้งด้านวินาศกรรม การลงทุนและด้านอื่นๆ อีกทั้งมีทีมติดตั้งและอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งให้คำปรึกษาหลังการติดตั้ง ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและอุ่นใจ ปัจจุบัน PEA Solar Hero จึงถือว่าเป็นแอปพลิเคชันสาธารณะที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการติดตั้ง Solar Rooftop โดยลูกค้าสามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย รวมถึงบริหารจัดการพลังงานดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย ตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในยุค 4.0 ได้สมบูรณ์แบบ
หลายคนอาจสงสัยว่า Solar Hero Application ทำงานอย่างไร?
คำตอบก็คือ Solar Hero Application มีฟังก์ชันการทำงานหลักๆ 4 ข้อ เริ่มตั้งแต่วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นในแต่ละครัวเรือน เพื่อหาขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่เหมาะสมของระบบผลิตไฟฟ้าจาก Solar Rooftop จากนั้นจึงมีฟังก์ชันให้ลูกค้าเลือกรูปแบบการลงทุนติดตั้งระบบ Solar Rooftop ตามความต้องการ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือก 3 รูปแบบคือลงทุนเอง/ผ่อนชำระ/พันธมิตรร่วมลงทุน
ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการเลือกผลิตภัณฑ์ ผู้ติดตั้ง และการบำรุงรักษา รวมถึงระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ลูกค้า ภายใต้มาตรฐานรับรองจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสุดท้ายคือติดตามขั้นตอนการดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop พร้อมให้คำแนะนำและบริการในการบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ในส่วนของการลงทุนติดตั้งระบบ Solar Rooftop นั้น ด้าน Solar Hero Application จะช่วยลูกค้าคำนวณความคุ้มทุนในการติดตั้ง มีแหล่งเงินทุนช่วยสนับสนุนในการติดตั้ง รวมทั้งมี Vendor List จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทั้งผู้ผลิตและผู้รับจ้างติดตั้งให้ประชาชนได้เลือกใช้ อธิบายข้อกำหนดและระเบียบการทุกขั้นตอนในการดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop อย่างถูกกฎหมาย ตลอดจนมีบริการ Maintenance & Assurance ภายหลังการติดตั้ง
ที่สำคัญ แอปพลิเคชันนี้ยังเป็นที่รับฝากพลังงานเพื่อส่งต่อให้ลูกค้ารายอื่นๆ สุดท้ายจะมีการสรุปข้อมูลรวมทั้งประเทศได้ว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ Solar Hero Application อยู่เป็นจำนวนเท่าไร และช่วยโลกลดมลภาวะทางด้านต่างๆ ไปได้เท่าไรแล้ว รวมไปถึงลูกค้าจะได้รับความรู้และทราบความเคลื่อนไหวของการเพิ่มขึ้นของพลังงานสะอาดจาก Solar Rooftop ในภาพรวมของประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม โครงการ Solar Hero Application ดังกล่าวนี้ จะนำมาใช้งานจริงร่วมกับโครงการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจาก Solar Rooftop (Net-Billing) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สนใจอยากหันมาใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติ ซึ่งมีความปลอดภัยและยั่งยืนยาวนาน มีกำหนดเปิดตัวให้บริการกลางปี 2561 โดยเริ่มในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ระยอง และภูเก็ต