แสงซินโครตรอน ผลิตจากเครื่องเร่งอนุภาคมีประจุชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ แสงซินโครตรอนที่ผลิตจากเครื่องดังกล่าว ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาโครงสร้างระดับโมเลกุลและอะตอมในเชิงลึกซึ่งแสงซินโครตรอนช่วยตอบโจทย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในด้านต่างๆ มากมาย จึงมีผ้เข้าใช้บริการแสงที่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เป็นจำนวนมาก ความปลอดภัยในการใช้แสงซินโครตรอนจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สถาบันฯ ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก
เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจัดเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่สามารถปลดปล่อยแสงออกมาในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ย่านอินฟราเรดจนถึงเอกซเรย์ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน สถาบันฯ จึงดำเนินงานตามกฎหมายด้านความปลอดภัยทางรังสีอย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการแสงของสถาบันฯ นั้นสามารถใช้แสงซินโครตรอนได้อย่างปลอดภัย พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องคือ พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ซึ่งการครอบครองหรือใช้เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนจะต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งสถาบันฯ ได้ดำเนินการขอรับใบอนุญาตฯ ดังกล่าวมาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง โดยขั้นตอนในการขอรับใบอนุญาตฯ นั้นผู้ขอรับใบอนุญาตฯ ต้องแสดงเอกสารหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ที่ชัดเจนเพื่อใช้ในการประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตฯ ผู้ขอรับใบอนุญาตฯ ต้องแสดงให้ผู้ออกใบอนุญาตฯ ทราบถึงระบบความปลอดภัยทางรังสีที่มี รวมถึงมาตรการความปลอดภัยทางรังสีที่ได้จัดทำขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าผู้ขอรับใบอนุญาตฯ นั้นจะสามารถนำเครื่องกำเนิดรังสีไปใช้ได้อย่างปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพต่อผู้ปฏิบัติงานทางรังสีและประชาชนทั่วไป
ด้านบุคลากรสถาบันฯ ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีระดับสูงเพื่อดูแลด้านความปลอดภัยทางรังสี ในการบริหารจัดการด้านรังสีให้เป็นไปอย่างปลอดภัย สอดคล้องกับกฎหมายด้านรังสีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดฝึกอบรมให้กับผู้ปฏิบัติงานทางรังสีทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานกับรังสีที่ถูกต้องและปลอดภัย ส่วนการเฝ้าระวังด้านรังสีนั้น สถาบันฯ ได้จัดให้มีเครื่องมือวัดรังสีประจำพื้นที่เพื่อตรวจวัดรังสีในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง การสำรวจรังสี และตรวจวัดปริมาณรังสีในอากาศและน้ำทิ้งเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของรังสีสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งจัดให้มีการตรวจวัดการได้รับรังสีประจำบุคคล ทั้งในส่วนของผู้ปฏิบัติงานของสถาบันฯ และผู้ใช้บริการแสง เพื่อประเมินปริมาณรังสีที่แต่ละบุคคลได้รับควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินผลกระทบด้านรังสีที่มีผลต่อสุขภาพรายบุคคล มาตรการต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานของสถาบันฯ และผู้ใช้บริการแสงมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานเสมอ
ทั้งนี้ การดำเนินงานด้านระบบความปลอดภัยทางรังสีของสถาบันฯ ยึดหลักการปฏิบัติงานกับรังสีให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นตามหลัก ALARA (As Low As Reasonably Achievable) พิจารณาถึงการใช้ประโยชน์จากรังสีอย่างปลอดภัย และควบคุมปริมาณรังสีที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการแสงได้รับไม่เกินขีดจำกัดปริมาณรังสีที่กำหนดตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านการป้องกันรังสีหรือ ICRP (International Commission on Radiological Protection) ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการใช้แสงซินโครตรอนและการนำแสงซินโครตรอนไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต