หลังกลุ่มผู้ประกอบพลังงานหมุนเวียนยื่นหนังสือถึงศาลปกครองหวังเบรกหรือชะลอการใช้แผนพีดีพีใหม่ กระทรวงพลังงานลั่นไม่ได้ปิดกั้นซื้อไฟ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ หากต้นทุนขายเข้าระบบไม่กระทบค่าไฟของประชาชน ขณะที่เอกชนพึ่งศาลฯ หวังพีดีพีใหม่ถูกชะลอใช้ เหตุปล่อยไปกระทบธุรกิจและประชาชนภาพรวมแน่
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศาลปกครอง ขอให้ระงับหรือชะลอการประกาศใช้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP 2018 (พีดีพี 2018) พ.ศ. 2561-2580 ว่า ยังไม่ทราบกรณีดังกล่าว แต่ขอยืนยันว่าแผนพีดีพีจัดทำขึ้นภายใต้พื้นฐานที่คำนึงถึงความมั่นคงด้านพลังงาน และให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้น หากราคาพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนต่ำ สามารถผลิตเพื่อขายเข้าระบบได้ตามปกติ
“กระทรวงพลังงานมีนโยบาย ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกชนิด โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าแผงพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคที่อยู่อาศัย หรือโซลาร์ภาคประชาชน ที่ในอนาคตจะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้า ระบบมากขึ้นและจะเห็นว่าไม่ได้กระทบค่าไฟประชาชนเพราะเน้นผลิตใช้เองส่วนเกินขายไฟเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ถ้าราคาไม่แพงรัฐเองก็ส่งเสริมอยู่แล้ว แต่เขาส่งเสริมประชาชนหรือเปล่าว่าจะซื้อไฟฟ้าใช้ในราคาไม่แพง ถ้าใครสามารถผลิตไฟฟ้าขายในราคาไม่แพง เราไม่มีจำกัดอยู่แล้ว เราต้องดูประโยชน์โดยรวมเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ไฟฟ้าเดินไปข้างหน้าจะต้องไม่แพง” นายศิริกล่าว
ด้าน นายผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซชีวภาพไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา หลังกลุ่มผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ระงับการประกาศใช้แผนพีดีพีฉบับใหม่ออกไปก่อน เพราะแผนพลังงานดังกล่าวไม่สมบูรณ์ ในกระบวนการรับฟังความเห็น หากต้องดำเนินการตามแผนดังกล่าว นอกจากจะกระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนภาพรวมที่เกี่ยวข้องอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทแล้ว ยังจะกระทบต่อประชาชนที่อาจจะต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นในอนาคต
“รัฐควรวางกรอบการพัฒนาในแผนพลังงานที่เกี่ยวข้องก่อน โดยเฉพาะแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) จากนั้น จึงจะมากำหนดไว้ในแผน PDP แต่รัฐกลับจัดทำ PDP ใหม่โดยเปลี่ยนแปลงทั้งปริมาณและระยะเวลาในการรับซื้อ พลังงานหมุนเวียนที่ชะลอออกไปทำให้เกิดความเสียหายต่อเอกชนที่วางแผนธุรกิจระยะยาวไว้แล้ว และยิ่งกว่านั้น คือการที่รัฐลดการซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนลงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม หรือ Disruption ซึ่งมีแนวโน้มต้นทุนจะต่ำลง แต่กลับตัดโอกาสไปให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนสูงที่สุด ก็ต้องผลักภาระเป็นค่าไฟให้ประชาชนรับแทน” นายผจญกล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าทางกระทรวงพลังงานยืนยันว่าแผนพีดีพีใหม่จะเปิดกว้าง รับซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนแต่ขอเพียงให้มีค่าไฟถูกลงก็ต้องขอย้อนถามกลับว่า ระเบียบการซื้อไฟฟ้าใหม่มีประกาศหรือไม่ และการที่ระบุว่าราคารับซื้อควรจะอยู่ที่ 2.44 บาทต่อหน่วยเพราะเป็นราคาที่เหมาะสมนั้น มีหลักการคิดอย่างไร ซึ่งผู้ประกอบการยืนยันประเทศไทยมีพื้นฐานทางการเกษตร รัฐควรต้องให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้เองภายในประเทศ อันได้แก่ พลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล และก๊าซชีวภาพ เพราะเป็นสิ่งที่เกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม