ธวัช มีชัย นายกสมาคม “GEN THAI” กับภารกิจวางมาตรฐานวงการเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย


เปิดใจ ธวัช มีชัย นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย กับภารกิจการวางมาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อวิศวกรไทย รวมทั้งการจัด GEN THAI PAVILION ครั้งแรกในงาน Smart City Solutions Week 2019

ธวัช มีชัย นายกสมาคม “GEN THAI” กับภารกิจวางมาตรฐานวงการเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย
ธวัช มีชัย นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า” นับเป็นหัวใจหลักของทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากไฟฟ้าคือพลังงานหลักในการขับเคลื่อนของทุกๆ องคาพยพของอุตสาหกรรมฉะนั้น “มาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า” จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งเพราะเป็นรากฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องกำเนดิ ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นควบคู่ไปกับความปลอดภัย

นี่จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “สมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย (GEN THAI)” ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำมาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Design and Installation Standard of Generator Set) รวมทั้งส่งเสริมวิชาชีพวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่เทคโนโลยีระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กำหนดมาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อวิศวกรไทย

นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย กล่าวว่า บทบาทสำคัญของสมาคมฯ คือ การร่วมมือกับ วสท. ในการวางมาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งผ่านการทำเทคนิคพิจารณ์ และจัดพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกโดย วสท. ในปี พ.ศ. 2559 เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับวิศวกรไทยในการออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าภายในประเทศ

“บางครั้งมาตรฐานที่สมาคมฯ จัดทำขึ้น ยังถูกนำไปใช้เป็นแนวทางออกแบบติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย” นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย กล่าว

ธวัช กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมาตรฐานออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อแบ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการออกแบบและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในสถานที่ต่างๆ ได้แก่ อาคารทั่วไป สถานพยาบาลท่าอากาศยานและดาต้าเซ็นเตอร์

จัดอบรมตลอดปีพัฒนาวงการเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย

นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย กล่าวอีกว่าสมาคมฯ ได้ร่วมกับ บริษัท อินดี้ด ไลน์ จำกัด จัดอบรมเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบบสายดินสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อุปกรณ์สับเปลี่ยนแหล่งจ่ายไฟอัตโนมัติ และอุปกรณ์ต่อตรง อุปกรณ์ป้องกันและการเดินสายไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อให้ความรู้แก่วิศวกรผู้ออกแบบ ผู้ดูแลอาคาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งมีตารางการจัดอบรมตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคมภายใต้ “มูลนิธินายช่างไทยใจอาสา” ให้ความช่วยเหลือในการตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยปัจจุบันกำลังไปตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ซึ่งมีติดต่อกันไว้ 9 แห่ง โดยตรวจสอบว่าสภาพของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมใช้งานหรือไม่หากเกิดไฟฟ้าดับหรือขัดข้อง เพราะเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ช่วยชีวิต

“สมาคมฯ ยังมีเข้าไปให้การช่วยเหลือภาคเอกชนและราชการที่ประสบปัญหาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไม่สามารถใช้การได้ เราก็เข้าไปให้ความรู้และให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้งานไม่ได้ประสิทธิภาพจนสามารถใช้งานได้” ธวัช กล่าว

เทรนด์เทคโนโลยีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ธวัช กล่าวถึงแนวโน้มเทคโนโลยีและมาตรฐานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าว่า ปัจจุบันผู้ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีความสนใจเทคโนโลยีเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามากขึ้น มีการเลือกเครื่องยนต์ต้นกำลังที่เป็นเครื่องยนต์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบควบคุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เป็น Microprocessor ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าแทนระบบเก่าที่เป็นเครื่องยนต์ต้นกำลังแบบ Mechanic Engine และระบบควบคุมแบบ Analog ทำให้ขนาดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่าเดิมมาก

ขณะที่ในเรื่องมาตรฐานต่างๆ สามารถหาดูได้ง่ายจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็ว เช่น มาตรฐาน NFPA มาตรฐาน UPTIME มาตรฐาน ANSI/BICSI มาตรฐาน ISO8528 และมาตรฐาน IEC เป็นต้น จึงทำให้มีการนำมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้ มาใช้ประกอบการออกแบบ ติดตั้งและใช้งานเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ครั้งแรก! กับพาวิลเลี่ยนรวบรวมเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

ธวัช กล่าวว่า จากที่เคยได้รับเชิญไปชมงาน Secutech ที่ประเทศไต้หวัน และได้พบกับคุณนิคม เลิศมัลลิกาพร ประธาน บริษัท เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี. จำกัด ในฐานะตัวแทนด้านการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติชั้นนำของไทยก็ได้มีการหารือกัน ทำให้สมาคมฯ มีความต้องการที่จะจัดพาวิลเลี่ยนของสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย เพื่อนำสินค้าเกี่ยวกับระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งมีความสำคัญกับระบบป้องกันอัคคีภัยมาจัดแสดง เพื่อให้บุคคลทั่วไปมีความเข้าใจระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามากขึ้น

สำหรับพาวิลเลี่ยนของสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทยที่จัดแสดงในงาน Thailand Lighting Fair, Thailand Building Fair และ Secutech Thailand 2019 ระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2562 ที่ไบเทค บางนา นั้น จะอยู่บริเวณฮอลล์ 105 พื้นที่ 180 ตารางเมตร โดยมีบริษัทสมาชิกของสมาคมฯ ร่วมนำเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาจัดแสดง ได้แก่ บริษัทคัมมิ่นส์ ดีเคเอสเอส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อีเมค จำกัด บริษัท ฟูจิ เอสเอ็มบีอี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เกทเวย์ อินเตอร์เทรด จำกัด บริษัท ไอยรา อินเตอร์เทรด จำกัด บริษัท มัลติโค เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พิลเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เพาเวอร์เรด จำกัด บริษัท พียูที เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท ยูนิติสส์ จำกัด

สัมผัสเทคโนโลยีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในพาวิลเลี่ยน พร้อม 2 งานสัมมนาใหญ่

นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย กล่าวว่า ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมพาวิลเลี่ยนของสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทยในปีนี้ จะได้ชมเทคโนโลยีระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใน 4 หมวด คือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า อุปกรณ์ประกอบ อุปกรณ์ซ่อมบำรุง อุปกรณ์ทดสอบ อาทิ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบติดตั้งภายในอาคาร (Indoor Type Generator Set) เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบติดตั้งภายในตู้ครอบ (Enclosed Type Generator Set)

อุปกรณ์ประกอบระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เช่น สวิตช์สับเปลี่ยนแหล่งจ่ายไฟอัตโนมัติ (ATS) ตู้สวิตช์บอร์ด โหลดเทียม (Resistive Load Bank) ระบบขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Synchronizing Panel) ชุดจ่ายกำลังไฟฟ้าสำรอง (Battery Power Box) รวมทั้งยังมีการให้คำปรึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอื่นๆ ด้วย

TEMCA

นอกจากนี้ ภายในงานสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย ยังจัดการสัมมนาและอบรมให้กับผู้สนใจ 2 หัวข้อ ได้แก่ การสัมมนาเรื่อง “การออกแบบชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน รุ่นที่ 2 (Design of The Emergency Power Supply, EPS)” ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2562 โดยการสัมมนาดังกล่าวจะเป็นหลักสูตรการอบรม 3 วัน โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหลังการสัมมนาผู้ที่สอบผ่านเกณฑ์ตั้งแต่ 75% ขึ้นไปจะได้รับ “หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ประเภท ก” โดยสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย

ขณะที่อีกหัวข้อ สมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทยได้ร่วมกับสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาเครื่องกลและไฟฟ้าไทย จัดการอบรม “พื้นฐานความรู้วิศวกรรมไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขอรับใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกรไฟฟ้า/เครื่องกลพิเศษ (เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง)” โดยการอบรมจะจัดระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2562 ภายในงานที่ไบเทค บางนา เช่นเดียวกัน

ที่สำคัญสมาคมฯ ได้มีส่วนลดพิเศษค่าลงทะเบียนให้กับผู้เข้าร่วมงานโดยเฉพาะด้วย ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณประภัสสร บุญสม 08-1458-4441, 0-2184-4612

พบกับพาวิลเลี่ยนของสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย (THAI GENERATOR ASSOCIATION PAVILION) ได้ในงาน Thailand Lighting Fair, Thailand Building Fair และ Secutech Thailand 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นพร้อมงาน Digital Thailand Big Bang ภายใต้แนวคิดร่วม Smart City Solutions Week 2019 ระหว่างวันที่ 28-31 ตุลาคม 2562 ณ ฮอลล์ 104-105 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา


Source: นิตยสาร Electricity & Industry Magazine ปีที่ 26 ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2562 คอลัมน์ Interview
โดย สมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save