วิศวกรไทยกับการปรับตัวในยุคปกติใหม่


วิศวกรไทยกับการปรับตัวในยุคปกติใหม่

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เป็นสมาคมวิชาชีพทางด้านวิศวกรรม ดำเนินงานภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการอำนวยการ มีภารกิจในการบริการสมาชิกด้านการจัดฝึกอบรม การจัดทำมาตรฐานวิชาชีพทางด้านวิศวกรรม และให้บริการหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในเรื่องการให้คำปรึกษาทางด้านวิศวกรรม เป็นองค์กรกลางทางด้านวิศวกรรมจนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน กว่า 77 ปี เมื่อปลายปี พ.ศ. 2563 วสท. ได้จัดงาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2563 (National Engineering 2020: Engineering for Society)” ภายใต้หัวข้อ Engineering Disruption โดยมีหัวข้อสัมมนาทางด้านวิชาการครอบคลุมทุกด้าน ทุกสาขาวิศวกรรม รวมถึงการแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมไปพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ 5G Technology, Smart City and Smart Life, Renewable Energy, Digital Transformation, Leverage Thailand Engineering, Safety and Security, BIM Development, AI (Artificial Intelligence) and Standard of New Technology

ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “วิศวกรไทยกับการปรับตัวในยุคปกติใหม่” เป้าหมายเพื่อแนะนำการปรับตัวของวิศวกรในยุค New Normal รวมทั้งเปิดมุมมองและเทคนิควิธีการปรับตัวจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทางวิชาชีพวิศวกรรม โดยได้รับเกียรติบรรยายโดย ศ. ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ศ. ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย
ศ. ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย

ศ. ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัญหาด้านสุขภาพครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ ที่ตามมาคือผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อวิถีชีวิตและการทำงานของมนุษย์ เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมต่างพยายามคาดเดาว่าผลกระทบต่อวิชาชีพจะเป็นเช่นใด ส่วนใหญ่เชื่อว่าผลกระทบต่ออุตสาหกรรมวิศวกรรมและการก่อสร้างจะมีทั้งในระยะสั้นและยาว จนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปฏิบัติงานอย่างครบวงจร

สำหรับประเทศไทย บริษัทวิศวกรรมน่าจะผลักดันโครงการที่กำลังดำเนินให้สำเร็จ แต่ก็คงทำด้วยความลำบาก เพราะความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานอาจเปลี่ยนไปจากการหดตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมวิศวกรรมและการก่อสร้างต่างจับตามองสถานการณ์ของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เช่น หลายโครงการใน EEC ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากปัญหาทางการเงินหรือไม่ และคงต้องตั้งความหวังว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสำคัญต่อการลงทุนในประเทศไทยต่อไป

แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยศักยภาพของอุตสาหกรรมวิศวกรรมและการก่อสร้างในการสร้างงาน น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีที่รัฐบาลไทยใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการผลักดันการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่อไป โดยเน้นใน 3 ประเภทนี้ 1. โครงการที่ช่วยสร้างงาน 2. โครงการที่ให้ผลตอบแทนทันที เพื่อรัฐสามารถนำเงินไปฟื้นฟูสังคม และ 3. โครงการที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

เป็นที่ชัดเจนว่า สิ่งที่โลกกำลังประสบไม่ใช่เป็นวงจรปกติแต่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อน สุดท้ายมันคือ ความปกติใหม่ (New Normal) ของโลก ในท่ามกลางหมอกควันแห่งความไม่แน่นอนผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต้องเริ่มวางแผนว่า หลังวิกฤตโควิด-19 เมื่อทุกอย่างกลับเข้าภาวะปกติ สถานะองค์กรจะเป็นอย่างไรความปกติใหม่ที่พูดถึงนั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไร ผู้บริหารเหล่านี้ต้องเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ จะไม่ได้เป็นไปตามครรลองแบบเดิมในอดีตอีกแล้ว ดังนั้นต้องคิดนอกกรอบเพื่อค้นหาวิธีเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้ ช่วงนี้คือช่วงสำคัญที่จะนิยามผลิตภัณฑ์วิศวกรรมใหม่ เพื่อจะได้มีจุดยืนในภูมิทัศน์ใหม่ ภายใต้ความปกติใหม่นี้

สิ่งต่อไปนี้คือสิ่งที่คาดว่าจะกลายเป็นความปกติใหม่ ได้แก่

  1. ในช่วงวิกฤต ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการปฏิบัติงานที่บ้านและการประชุมออนไลน์ หลายบริษัทเริ่มคิดนอกกรอบได้ว่าการที่พนักงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้จะเป็นความปกติใหม่อย่างหนึ่ง เป็นการลดค่าใช้จ่ายภายในสำนักงาน และลดการเสียเวลาในการเดินทางของพนักงานด้วย จึงอาจต้องกำหนด KPI ชุดใหม่ที่ไม่เน้นการวัดผลงานด้วยเวลาที่ใช้ในการทำงาน แต่วัดด้วยปริมาณผลงาน หรือความก้าวหน้าของโครงการ
  2. สิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจกิ๊ก” กำลังเปลี่ยนวิธีการทำงานของนักวิชาชีพ ความจริงบริษัทที่ปรึกษาวิศวกรรมมีความคุ้นเคยกับ “เศรษฐกิจกิ๊ก” อยู่ เพราะมีการจัดจ้างที่ปรึกษาฉพาะกิจภายนอก สิ่งนี้จะกลายเป็นความปกติใหม่ ดังนั้นบริษัทต้องพร้อมที่จะตอบสนองด้วยการสร้างรูปแบบการจ้างที่หลากหลาย สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้รับเหมา พนักงานทดลองงาน และพนักงานเฉพาะกิจ
  3. ที่ผ่านมาบริษัทด้านวิศวกรรมมักให้ความสำคัญแก่ประสิทธิผลการผลิตเป็นพิเศษ แต่ในอนาคตประสิทธิภาพของเงินทุนจะเข้ามามีความสำคัญแทน บริษัทที่ใช้เงินสดหมุนเวียนอย่างชาญฉลาดมีต้นทุนคงที่น้อยกว่า และมีวงจรการแปลงเงินสดได้ในระยะเวลาสั้นๆ จึงจะสามารถอยู่ยั่งยืน
  4. ผลิตภัณฑ์วิศวกรรมทุกอย่างจะต้องสามารถแปลงให้เป็นดิจิทัลได้ ทำเป็นสำเนาและส่งให้ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องได้ทางออนไลน์ สิ่งนี้จะสอดคล้องกับแนวคิดว่า รับงานที่ไหนก็ได้ ผลิตงานที่ไหนก็ได้ และส่งงานที่ไหนก็ได้
  5. นวัตกรรมทางเทคโนโลยียังมีความสำคัญในโลกแห่งความปกติใหม่ โดยเฉพาะงานด้านวิศวกรรม พันธุกรรม ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ และพลังงานสะอาด และความต้องการใหม่ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤต คือ เทคโนโลยีเกี่ยวกับสุขภาพ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ทำงานกับมนุษย์

ศ. ดร.วรศักดิ์ กล่าวสรุปว่า “ผลลัพธ์แห่งความท้าทายในระดับโลกนี้ จะเปลี่ยนมุมมองของมนุษย์ในการล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติและในการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อโลก จากนี้ไปนักลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนคงจะต้องคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อโลกเป็นใหญ่ เพราะทุกคนดูเหมือนจะตาสว่าง ที่ได้ประจักษ์เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตว่า โลกสวยงามน่าอยู่เพียงใดในช่วงที่มนุษย์ส่วนใหญ่อยู่บ้านใน 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทุกวิกฤตจะสร้างคลื่นลูกใหม่และเป็นบทเรียนสำคัญในการทำงาน ทำให้มีการเตรียมพร้อมในการทำงานหรือพร้อมรับมือกับวิกฤตครั้งใหม่เสมอ”

รศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล
รศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล

ด้าน รศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คอลัมน์ AI กับนายช่าง กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่เอาปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักรมาแทนคนจำนวนมากมาย และเริ่มเลย์ออฟพนักงานคือ ธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศไทยที่มีการเลย์ออฟพนักงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีนวัตกรรมเข้ามาแทนที่ การที่ AI เติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ลดต้นทุน ทำให้เกิดความต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI มากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดอาชีพใหม่ที่เรียกว่าวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Engineer) ในอนาคตประเทศไทยน่าจะต้องการวิศวกรปัญญาประดิษฐ์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคที่มีการนำ AI มาใช้จริงในธุรกิจเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนทางธุรกิจ

AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มีความฉลาดเทียมที่สร้างขึ้นให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต หรือหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างหน้าตา เคลื่อนไหวคล้ายมนุษย์ใช้แนวคิดการทำงานของสมองมนุษย์มาประยุกต์เป็นเครือข่ายประสาทเทียม เพื่อการประมวลผลโดยการแบ่งประเภทข้อมูลสามารถคิดได้ตามหลักเหตุและผล วิเคราะห์งานที่เกิดขึ้นจากการป้อนสูตรเข้าไป เช่น การแก้ไขปัญหาทางสถิติ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในระบบอัตโนมัติต่างๆ ได้ ในปัจจุบันสามารถสื่อสารได้ด้วยภาษาที่มนุษย์ใช้ได้แล้ว

“หากถามว่าใครจะอยู่ใครจะไปนั้น ต้องบอกว่า งานจิตอาสางานเพื่อสังคม นางพยาบาล นักบำบัด นักจิตวิทยา งานที่ต้องใช้ทักษะด้านเจรจา และโดยเฉพาะสายอาชีพศิลปะแขนงต่างๆ ที่จะใช้สมองซีกซ้ายในการคิดเป็นส่วนใหญ่ อาชีพที่มักใช้อารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องกับงาน เช่น Artists, Designers, Engineers ยังอยู่รอดปลอดภัย เพราะอาชีพเหล่านี้อาศัยทักษะพิเศษ การคิดแบบ Original Ideas ยากที่จะลอกเลียนแบบ ไม่มีแพทเทิร์นที่ตายตัวงาน Routine อาชีพที่ทำงานซ้ำๆ เดิมๆ งานที่ใช้แรงงาน (Blue–Collar) ไม่ได้ใช้ความรู้ในระดับเชี่ยวชาญและเฉพาะทางจริงๆ คุณกำลังเข้าข่ายเส้นยาแดง และคุณจะโดนกลืนกินแทนด้วยเทคโนโลยีในที่สุด เช่น Cashier, Telephone Salesperson คนงานในโรงงานคนขับรถแท็กซี่ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพขึ้นไปอีก Financial Industry (อุตสาหกรรมการเงิน) ก็ถือว่ามีแนวโน้มสูงมากทีเดียว เนื่องจาก Machine Learning สามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเงินและเตรียมข้อมูลบัญชีได้อย่างแม่นยำโดยไม่ต้องอาศัยนักบัญชี (ที่มีโอกาสคำนวณพลาด) อีกต่อไป ตัวอย่างที่มีเห็นอย่างเด่นชัดคือ ATM และ Mobile Banking ได้เข้ามาแทนที่งานหลายส่วนของมนุษย์ไปแล้วเรียบร้อย”

ดังนั้น AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่อาชีพมนุษย์ไปเสียหมด เพราะก็ยังมีอยู่บางอาชีพที่มนุษย์มีความจำเป็นต้องทำอยู่ หุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้ ประกอบด้วย นักจิตวิทยาและนักบำบัด เป็นอาชีพที่จำเป็นมาก เนื่องจากโลกและภาคธุรกิจมีการแข่งขันสูง ทำให้คนเกิดความเครียดได้ง่าย การเข้ารับการบำบัดจากนักจิตวิทยาที่เป็นมนุษย์ ซึ่งมีทั้งน้ำเสียง พลัง และกริยาท่าทางการแสดงออก จะสามารถกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นได้ ซึ่งหุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้

สุดท้าย เมื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงควรปรับตัว เรียนรู้ พัฒนาศักยภาพของตนเอง และทำความเข้าใจนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อก้าวให้ทันกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ หากมนุษย์สามารถปรับตัวได้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างแน่นอน

ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์
ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์

ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และอาจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ปัจจุบันการระบาดของ Covid-19 ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้ใจ มีรายงานผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง เราประมาทไม่ได้ และในขณะที่เรากำลังวุ่นวายและวิตกกับวิกฤตโรคระบาดอยู่นั้น เรามองข้ามสิ่งสำคัญหลายๆ อย่างไปหรือไม่ และหนึ่งในเรื่องสำคัญที่เราไม่อาจมองข้ามได้นั้นก็คือ เรื่องของคุณภาพสิ่งแวดล้อม

“ในขณะที่เรากำลังเข้มข้นต่อการดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้พ้นภัยจากการระบาดของ Covid-19 เราอาจลืมเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจัดการกับปัญหาขยะหน้ากากอนามัยที่ทิ้งและจัดการอย่างไม่ถูกวิธี ในเฉพาะกรุงเทพฯ ขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วทิ้งมีมากถึง 40 ตันต่อวัน และขยะเหล่านี้ถือเป็นขยะติดเชื้อ ซึ่งจะต้องใช้วิธีการจัดการเฉพาะอย่างระมัดระวัง และหากมีการทิ้งไม่ถูกวิธีเราอาจจะเห็นภาพของหน้ากากอนามัยใช้แล้วกลาดเกลื่อนตามชายหาดหรือที่ที่ไม่ควรจะพบ เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้แล้วหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งยังมีองค์ประกอบที่ผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายยาก อย่างพอลิโพรไพลีน (Polypropylene : PP) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง เมื่อทิ้งไปก็จะกลายเป็นภาระของสิ่งแวดล้อม”

ส่วนปัญหาการชะลอตัวของโครงการต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์เป็นต้น เพราะแต่ละประเทศต้องหันมาใส่ใจเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าอย่างวิกฤต Covid-19 ก่อน ทำให้โครงการดังกล่าวต้องยืดเวลาออกไปอีกแม้ว่าจะมีข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ได้ยินมาบ้าง เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง คุณภาพอากาศดีขึ้น หรือระบบนิเวศได้ฟื้นฟูตัวเองจนสัตว์น้อยใหญ่ออกมาร่าเริงให้เห็น แต่ อิงเกอร์ แอนเดอร์สัน (Inger Andersen) ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กลับมองว่า นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ซึ่งจริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวเท่านั้นจึงจะเปลี่ยนแนวโน้มของการลดลงของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น ในทางกลับกัน ภาวะเศรษฐกิจโลกกลับดูซบเซาสวนทางกัน ซึ่งนั้นหมายความว่า ไม่ใช่เรื่องดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวเลย

ผศ. ดร.ธนพล กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทั้งนี้ เราเองก็คงต้องมองย้อนกลับมาแล้วมองกันยาวๆ ต่อไปถึงเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ต่อจากนี้ยิ่งต้องเข้มข้นและใส่ใจกับทุกพฤติกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นหากมองในแง่ดีอีกมุมหนึ่งจากวิกฤตในครั้งนี้คือ เหมือนการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง และเราได้มีโอกาสปรับตัวอย่างจริงจังเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ถือโอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเมื่อสิ่งแวดล้อมดีขึ้นก็ย่อมจะดีต่อตัวเราเองด้วย”

ดังนั้นการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญของวิศวกรเช่นกัน เนื่องจากวิศวกรรมจะต้องคำนวณการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยว่า นวัตกรรมต่างๆ ที่สร้างขึ้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน คงไม่ดีแน่หากมีการสร้างตึก อาคาร หรือนวัตกรรมใหม่ๆ แล้วทำลายสิ่งแวดล้อมให้ลูกหลานต้องลำบากเพื่อให้โลกพัฒนาไปพร้อมกับรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย เพราะฉะนั้นวิศวกรรมเป็นศาสตร์ที่มีการแตกแขนงออกไปได้อีกหลายแบบ ทำให้วิชาชีพนี้มีความสำคัญต่อสังคมโลกอย่างมากในอนาคต


Source: นิตยสาร Electricity & Industry Magazine ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564
คอลัมน์ Special Scoop โดย กองบรรณาธิการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save